วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553

อย่าส่งเป็ดของคุณ ไปเข้าโรงเรียนนกอินทรี

วันนี้ผมไปเจอบทความหนึ่งที่น่าสนใจเรียบเรียงจาก
งานสัมมนา John C. Maxwell, Live in Person,
Building the Leadership Team for Outstanding Results
จัดโดย ITD Group กลางเดือนมิถุนายน 2551
ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค


ลองอ่านดูคงจะเข้าใจว่าหมายถึงอะไร........

อย่าส่งเป็ดของคุณ ไปเข้าโรงเรียนนกอินทรี


นี่ไม่ใช่คำขู่ แต่เป็นคำเตือนอย่างหวังดี
ของกูรูทางด้านการสร้างภาวะผู้นำอันดับ 1 ของโลก

“จอห์น ซี. แม็กซ์เวลล์”

: เป็ดไม่สามารถไล่ตามงานของนกอินทรีได้ ยิ่งนานวันไปเป็ดก็จะยิ่งกระอักกระอ่วนใจ
ในกระบวนการทำงาน

: สัตว์ปีกทั้งสองชนิดนี้ มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องยังไงกับภาวะผู้นำ?

“คุณจะทำอะไรคนเดียวเพื่อตามล่าหาฝัน มันไม่มีวันสำเร็จได้
เพราะไม่ได้สร้างทีมขึ้นมารองรับ ฝันร้ายที่สุดของการเป็นผู้นำคือ
คุณมีฝันที่ยิ่งใหญ่ แต่ไม่มีทีมงานที่ดี”
และการจะไปให้ถึงที่สุดของฝั่งฝันได้ ต้องขึ้นกับความสามารถของคนในทีม
อันเป็นที่มาของการบรรยายสดในหัวข้อ Building the Leadership Team for Outstanding Results เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (2551)

“เป็ดก็เป็นเป็ด นกอินทรีก็เป็นนกอินทรี ทุกคนเป็นตัวของตัวเอง”
สิ่งที่เขาพยายามกระซิบดังๆ ก็คือ เพราะฉะนั้นจงวางคนให้ถูกที่
กับภารกิจที่เขาต้องทำ

เรื่องราวของนกอินทรีกับเป็ด
ในรั้วโรงเรียนสอนธุรกิจการจัดการ
เป็นสัญลักษณ์การบริหารคนของผู้นำ
ที่คิดเป็น ทำเป็น รู้จักมองไปข้างหน้า และเริ่มต้นวางแผน

แม็กซ์เวลล์เปิดใจว่า ตลอดชีวิตของเขาเคยลงทุนกับเป็ดมาแล้วนับไม่ถ้วน
พยายามหัดเป็ดให้บินสูง พอมันบินสูงไม่ได้ ก็ร้อง “แควก แควก” ออกมา
ไม่ต่างจากคนที่เป็นเป็ด แล้วต้องไปแบกรับหน้าที่ของนกอินทรี
พอทำไม่ได้ ก็เริ่มตั้งต้นบ่นพรำ

เขาเริ่มต้นเล่าเรื่องราวของเป็ดที่ทำเอาหลายคนอมยิ้ม...
มีขนมโดนัทยี่ห้อหนึ่งชื่อว่า คริสปี้แอนด์ครีม
เป็นขนมหวานมันหอมใหม่สดจากเตาร้อนที่ต้องเปิดไฟทำงานสีแดงเอาไว้
ถ้าลูกค้าเห็นสีแดงจะกรูกันเข้ามาซื้อ
เพราะนั่นหมายถึงสัญญาณจากพระเจ้าว่า
กำลังจะได้ลิ้มรสขนมอร่อยในไม่ช้านี้แล้ว

แต่ถ้าไม่เห็นสัญญาณไฟสีแดง
ลูกค้าส่วนใหญ่จะเดินผ่านไปโดยไม่สนใจ

ครั้งหนึ่งเขาได้ลิ้มชิมรสขนมมีรูจากหน้าเตานี้
โดยไม่มีสัญญาณสีแดง
แต่มันก็ยังอร่อยและบ่งบอกถึงรสชาติที่เพิ่งออกจากเตา
ก็เลยถามพนักงานขาย
คำตอบที่ได้ทำให้หัวใจเขาแทบหยุดเต้น
“ถ้าเปิดไฟสีแดงไว้ ลูกค้าจะแห่เข้ามาแล้วต้องขายดีเทน้ำเทท่า
ยิ่งขายดีมากก็ยิ่งเหนื่อย
สู้รีบทำรีบปิดไฟเสียดีกว่า
ลูกค้าจะได้ไม่แน่นร้าน
จนต้องทำงานเหนื่อยสายตัวแทบขาด”

เขาร่ำร้องอยู่ในใจ
“เธอคือเป็ดนั่นเอง ตัวที่ร้องแควก แควก
ตอนที่ต้องบินสูง เธอเป็นเป็ดมาขายโดนัท”

โอ้! พระเจ้า ผู้จัดการร้านจ้างเป็ดมาทำงานของนกอินทรี
ไม่ต่างอะไรกับการส่งเป็ดไปเข้าโรงเรียนผู้นำนกอินทรี

เหตุผลที่ไม่ควรส่งเป็ดไปเรียนร่วมห้องกับนกอินทรี
เขาบอกว่า ทำให้เกิดข้อคับข้องใจ
เพราะเป็ดไม่สามารถไล่ตามงานของนกอินทรีได้
ยิ่งนานวันไปเป็ดก็จะยิ่งกระอักกระอ่วนใจ
ในกระบวนการทำงาน
แม้แต่นกอินทรีเองก็อาจทำให้มีปัญหาในการบิน
เพราะแทนที่จะหัดบินจากบนลงล่างหรือล่างขึ้นบน
กลับไพร่จะหัดปีนขึ้นภูเขา ส่วนเจ้าเป็ดก็ถูกหัดให้วิ่งบนน้ำ
แทนที่จะได้ดำผุดดำว่าย
“เป็นการออกจากจุดแข็ง แล้วไปใช้จุดอ่อน ทำให้อึดอัดคับข้องใจ”
หลายครั้งเป็ดไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรเกินความสามารถ
แต่อินทรีจะรู้อยู่แก่ใจเสมอว่ามีเป็ดอยู่ในฝูง
ไม่ต่างอะไรกับกาในฝูงหงส์
ในสภาพแวดล้อมของผู้นำ
มีทั้งคนเก่งและคนไม่เก่งอยู่รอบตัว
หน้าที่ของคนที่มีภาวะผู้นำต้องรู้จักบริหารจัดการ
ต้องรู้ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร เวลาพัฒนาคนต้องมีภาพอยู่ในใจว่า
จะพัฒนาแต่ละคนไปอย่างไร
แต่ละคนมีความสามารถเป็นทุนเดิมแค่ไหน
อย่าต้องพลาดโอกาสหากเราไม่รู้ว่า
ศักยภาพของคนมีแค่ไหน
เพราะบางเรื่องอาจมองเห็นช่องโหว่
เล็ดลอดออกมาจากขนมคริสปี้แอนด์ครีมโดนัท
“ผู้นำต้องสามารถประเมินและพัฒนาผู้คน
มีความสามารถในการพัฒนาตัวเอง พร้อมกับพัฒนาผู้อื่น”
สรุปได้ว่า ทุกคนต้องได้รับการพัฒนา
ให้มีความสามารถที่เหมาะสม
ทำให้เป็ดเป็น the best และอินทรีก็เป็น the best ด้วยเช่นกัน
ฝึกปรือทั้งคู่โดยไม่พยายามฝึกเป็ดให้เป็นนกอินทรี

แต่ถ้าเป็นเรื่องของฮิลลารี คลินตัน กับ บารัก โอบามา
บทวิเคราะห์บันได 5 ขั้นของภาวะผู้นำอาจเปลี่ยนไป
เพราะนี่เป็นเรื่องของนกอินทรี 2 ตัว
กับเป้าหมายต้องการไปให้ถึง
จุดสูงสุดของภูเขาลูกที่ชื่อว่า United States of America

แม็กซ์เวลล์ชี้ว่า
ในสายตาคนทั่วไปมองว่าฮิลลารีเป็นนกอินทรีปีกแข็งแรง
ที่จะไปถึงยอดเขาได้ก่อ น
ในภาพรวมทั้งสองคนเป็นผู้นำฝีมือดี
ไม่เกี่ยวกับว่าใครเก่งกว่าหรือดีกว่าอีกคน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ
ระดับของภาวะผู้นำที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ
เขาเรียกระดับดีกรีนั้นว่า
แรงหนุนที่เป็นพลังแห่งความสำเร็จ
ฮิลลารีมั่นอกมั่นใจมากว่าเธอจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐอเมริกา
เธอมีแรงหนุนที่จะนำพาไปได้
แต่เธอทำหายไป เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้นำเชื่อมั่นว่า
ตัวเองดีที่สุดแล้ว
อันตรายก็จะมาถึงตัว เพราะขาดการฝึกปรือเพื่อไปยืนอยู่ในสถานภาพที่ดีกว่า

ขณะที่โอบามาทำตัวเหมือนเป็นคนของประชาชน
คล้ายกับจอห์น เอฟ เคเนดี้ คุณลักษณะเด่นในความเป็นภาวะผู้นำของเขาคือ
การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นผู้นำกับผู้คน
เขาต่อติดกับคนหนุ่มสาว แล้วปลดปล่อยผู้คนให้เกิดความหวัง
“โอบามาสร้างจินตนาการสูงให้กับผู้คน มีความเป็นภาวะผู้นำสูง
หน้าที่ผู้นำต้องบริหารจัดการกับความหวัง แล้วนำความหวังนั้นมาสู่ความเป็นจริง”
คนที่เป็นผู้นำไม่จำเป็นต้องทำดีเกินไป
หรือเวลาไม่ดีขึ้นมาก็อย่าคิดว่าตัวเองต้องแย่แน่แล้ว
ผู้นำทุกคนมีข้อดีข้อเสียมากบ้าง น้อยบ้าง
คุณจะได้เครดิตมากเวลาทำได้ดี
แต่ก็ต้องยืดอกพร้อมรับคำวิจารณ์เวลาพลาดพลั้ง
เพราะมันเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ ยังไกลตัว
แต่ก็ต้องทำให้จริงได้ในสักวัน

“อย่าส่งเป็ดของคุณ ไปเข้าโรงเรียนนกอินทรี”
นี่ไม่ใช่คำขู่
แต่เป็นคำเตือนอย่างหวังดีของจอห์น ซี. แม็กซ์เวลล์
แต่ถ้าเป็นโรงเรียนสอนซูเปอร์นกอินทรี
โดยเฉพาะกับอินทรีปีกแข็งอย่างฮิลลารีและโอบามาด้วยแล้ว
ดูเหมือนว่าเก้าอี้เกียรตินิยมอันดับ 1 จะเหลือว่างอยู่เพียงที่นั่งเดียว


ปล: ผมไม่ขอเป็นนกอินทรีหรือเป็นเป็ดดีกว่าครับครับ
ขอเป็นลูกไก่ตัวน้อยๆ น่ารักๆ สบายๆ ดีกว่าออก!!!

1 ความคิดเห็น:

  1. ถ้าเลือกได้คงอยากเป็นอย่างนกอินทรี ที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง กล้าแสดงความคิดเห็น ใฝ่เรียนรู้อยู่เสมอ และที่สำคัญคงมองการก้าวไปพร้อมกันกับเพื่อนร่วมงาน เฉพาะบางคนนะคะ อิอิ...

    ตอบลบ