วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การสอนเเบบ สาลิกาป้อนเหยื่อ

เมื่อสัปดาห์ก่อน มีคนมาถามผมว่า
หมอรู้จัก "สาลิกาป้อนเหยื่อ" ไหม??
ผมได้อรรถาธิบายไปคราวๆตามที่เข้าใจ

วันนี้เลยขออนุญาตนำคำสอนของท่านพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาจุฬาราชวิทยาลัย
ท่านอธิบายได้เเจ่มเเจ้งมาก ผมตัดมาบางส่วนเพื่อให้ตรงกับประเด็นที่ยกขึ้น

สาลิกาป้อนเหยื่อ หมายถึงลีลาสอนธรรมให้เหมาะกับระดับของผู้ฟังเช่นเดียวกับแม่นกสาลิกาเมื่อป้อนเหยื่อให้ลูกนกจะทำเหยื่อแต่ละคำให้พอดีกับปากของลูกนก ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับพุทธพจน์ที่ว่า “จงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด”
การสอนสอนธรรมที่ดีต้องมีการเลือกใช้ลีลาให้เหมาะกับระดับสติปัญญาของผู้ฟัง ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแบ่งคนฟังธรรมออกเป็น ๔ ประเภทเหมือนดอกบัว ๔ เหล่า แต่ละประเภททรงใช้ลีลาการสอนธรรมไม่เหมือนกัน เช่นทรงยกหัวขึ้นแสดงโดยย่อสำหรับพวกบัวพ้นน้ำ ทรงอธิบายขยายความพอสมควรสำหรับพวกบัวปริ่มน้ำ ทรงแสดงธรรมแบบธรรมาธิษฐานสำหรับพวกบัวพ้นน้ำ ทรงแสดงธรรมแบบบุคลาธิษฐานสำหรับบัวประเภทอื่น

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าที่หยิบใบประดู่ลายกำมือหนึ่งแล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่าใบไม้ในกำมือของเรากับใบไม้ในป่าอันไหนมากกว่ากัน พระก็ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าใบไม้กำในมือของพระองค์น้อยกว่า ใบไม้ในป่ามากกว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมที่เราตรัสรู้มีมากมายมหาศาลเปรียบเหมือนกับใบไม้ในป่าทั้งป่า แต่ที่เรานำมาสอนพวกเธอทั้งหลายน้อยนิดประดุจดังใบไม้กำมือเดียวเท่านั้น เราไม่ได้สอนทั้งหมดที่เรารู้ เราสอนเฉพาะเรื่องที่พวกเธอควรรู้ ที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับทุกข์ เพื่อนิพพาน
พุทธพจน์นี้แสดงถึงหลักการเลือกสอนธรรมให้เหมาะกับผู้ฟัง เราไม่สอนทุกเรื่องที่เรารู้ แต่สอนเรื่องที่เขาควรรู้หรืออยากรู้ เหมือนแม่นกสาลิกาเลือกเหยื่อให้พอดีกับปากของลูกนก

นักสอนธรรมบางคนไม่คำนึงถึงระดับสติปัญญาของผู้ฟัง เขาเทศน์อัดธรรมเต็มที่จนผู้ฟังตาลอย พอผู้ฟังตามเขาไม่ทัน เขาก็หาว่าผู้ฟังโง่ ใครที่คิดว่าผู้ฟังโง่ต้องเตือนตัวเองด้วยภาษิตอุทานธรรมที่ว่า
“ถ้าพูดไปเขาไม่รู้อย่าขู่เขา
ว่าโง่เง่างมเงอะเซอะนักหนา
ตัวของเราทำไมไม่โกรธา
ว่าพูดจาให้เขาไม่เข้าใจ”

หลักการสอนธรรมให้ผู้ฟังเข้าใจคือการถือผู้ฟังเป็นศูนย์กลางและปรับลีลาการสอนให้สอดคล้องกับระดับสติปัญญาของผู้ฟัง นั่นคือการแสดงธรรมที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลางและงามในที่สุด มีคำอธิบายว่า คำขึ้นต้นท่านเรียกว่านิทานพจน์ คำลงท้ายเรียกว่านิคมพจน์ ส่วนที่เหลือเรียกว่าท่ามกลาง
ลีลาการสอนธรรมแบบสาลิกาป้อนเหยื่อสรุปได้ว่า “ขึ้นต้นให้ตื่นเต้น เด่นชัดในตอนกลาง ชี้ทางในตอนจบ”
การขึ้นต้นจะให้ตื่นเต้นต้องเริ่มเปิดฉากด้วยการสร้างความสงสัยหรือประหลาดใจแก่ผู้ฟัง ดังที่พระพุทธเจ้าทรงทำให้โจรองคุลิมาลสงสัยอยากสนทนาธรรมด้วยเมื่อทรงเริ่มต้นด้วยคำว่า “เราหยุดแล้ว ท่านสิยังไม่หยุด”

ในกสิภารทวาชสูตร ชาวนาคนหนึ่งเห็นพระพุทธเจ้าออกมาบิณฑบาตใกล้ที่นาของเขา เขาไม่อยากใส่บาตรจึงเตือนพระพุทธเจ้าว่า “คนทำนาจึงมีข้าวกิน พระองค์ก็ควรทำนาบ้าง” พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่าพระองค์ก็ทำนาเหมือน ชาวนาคนนั้นรู้สึกประหลาดจึงถามว่าถ้าพระองค์ก็ทำนา อุปกรณ์ในการทำนาอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า “ศรัทธาของเราเป็นเมล็ดพืช ความเพียรเป็นฝน ปัญญาเป็นแอกและไถ”
ครั้งหนึ่ง พระครูพิศาลธรรมโกศลหรือหลวงตาแพรเยื่อไม้รับนิมนต์ไปอบรมผู้ต้องขังในเรือนจำ ท่านเริ่มต้นด้วยถ้อยคำสะดุดหูผู้ฟังว่า “วันนี้จะพูดเรื่องติดคุกเป็นมงคล”

วันหนึ่งมีผู้ชายคนหนึ่งมาหาผมที่วัดแล้วถามคำถามประหลาดว่า “ผมจะฆ่าใครดี เมียผมมีชู้ ลูกผมก็ยังเล็กมาก ถ้าผมฆ่าเมียตาย ผมติดคุก ลูกผมจะอยู่กับใคร ถ้าผมฆ่าตัวตาย เมียผมก็สบายกับผัวใหม่ ถ้าผมฆ่าตัวผม เมียผมและลูกผม ผมก็คิดว่าลูกผมไม่ผิดอะไร ทำไมจะต้องตายด้วย ผมคิดไม่ตกว่าจะฆ่าใครดี”
ผมตอบเขาทันทีว่า “ฆ่าความโกรธในใจของคุณนั่นแหละดีที่สุด” คำตอบนี้ทำให้เขาตั้งใจฟังผมต่อไป เมื่อสนทนาธรรมจบลง เขาบอกว่าเขาไม่คิดจะฆ่าใครอีกเลย

การเริ่มต้นให้ตื่นเต้นเป็นการนำเข้าสู่บทเรียนธรรม ต่อจากนี้ไปเรียกว่าตอนกลาง เราต้องใช้ลีลาการสอนที่ช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจชัดเจนตามหลักการสอน ๔ ส ดังนี้
๑. สันทัสสนา แจ่มแจ้ง คืออธิบายขยายความได้ชัดเจน
๒. สมาทปนา จูงใจ คือทำให้เกิดศรัทธา
๓. สมุตเตชนา แกล้วกล้า คือ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าเราก็ทำได้
๔. สัมปหังสนา ร่าเริง คือผู้ฟังได้ธรรมรสและรู้สึกเบิกบานสบายใจ
ที่ว่า “เด่นชัดในตอนกลาง” ก็คือสอนให้ได้ผล ๔ ประการดังกล่าวนี้ รายละเอียดในเรื่องนี้หาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือของผมเรื่องตำนานสาลิกาป้อนเหยื่อและหนังสือเรื่องวิชาการเทศนาของสำนักวัดประยุรวงศาวาส

เมื่อพระธรรมทูตสอนธรรมจบลงทุกครั้งควรประเมินผลการสอนว่าเราทำได้กี่ข้อ
ถ้าท่านสอนได้ครบ ๔ ข้อ คือได้ ๔ ส ผมให้คะแนนระดับดีมาก
ถ้าท่านสอนได้ ๓ ส ผมให้คะแนนระดับดี
ถ้าท่านสอนได้ ๒ ส ผมให้คะแนนระดับพอใช้
ถ้าสอนได้แค่ ๑ ส ผมให้คะแนนระดับต้องปรับปรุง
ถ้าท่านไม่ได้สัก ส เดียว ผมเสนอว่าท่านไปทำงานอย่างอื่นดีกว่า อย่าสอนธรรมเลย มิฉะนั้นจะเป็นการโปรดสัตว์ได้บาป เพราะผู้ฟังอาจจะเบื่อการฟังธรรมไปอีกนานทีเดียวเพราะท่านเป็นเหตุ
ที่ว่า “ชี้ทางในตอนจบ” คือก่อนจบทุกครั้งให้สรุปเป็นข้อคิดหรือหลักปฏิบัติสั้นๆเพื่อให้ผู้ฟังใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตต่อไป การชี้ทางปฏิบัติเป็นหน้าที่ของนักสอนธรรม ดังคำประพันธ์ที่ว่า “ชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมศานต์ ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย”
หลวงพ่อพระพุทธวรญาณ (มงคล) อดีตเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสมักเตือนผู้ฟังธรรมทุกครั้งว่า “ตั้งใจฟัง ตั้งใจจำ นำเอาไปปฏิบัติ” โดยนัยนี้ ผู้สอนธรรมต้องสรุปเป็นคติธรรมประจำใจให้ผู้ฟังจดจำและนำเอาไปปฏิบัติ เช่นเดียวกับนักเล่านิทานทั้งหลายมักลงท้ายด้วยคำว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า”

สาธุ

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ระบบ Mentor

ผมอยากเเลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ผมได้ยินมาและประสบมาด้วยตัวเอง
เผื่อจะเกิดประโยชน์กับกรมของเรา ร่วมไปถึงประเทศชาติด้วย
ผมได้ไปอบรม “การบริหารโครงการวิจัยระดับหัวหน้าโครงการ” ที่ วช
มีด็อกเตอร์มาประชุมอบรมกันมากมาย ส่วนใหญ่ค่อนไปทางวัยกลางคน (ผมเป็นด็อก..รุ่นเล็กครับ)
มีอาจารย์จาก มสธ ท่านหนึ่ง คือ รศ.ดร.สุพักตร์ พิบูลย์ ท่านเล่าว่า ท่านฝึกอาจารย์ใหม่ โดยใช้ระบบ Mentor
โดยเริ่มจากตอนแรกก็มาเป็นผู้ช่วยสอนก่อน พอชำนาญมากขึ้นอาจารย์ใหม่ก็เริ่มสอนด้วยตัวเอง
เวลาไปบรรยายที่นอกมหาวิทยาลัยก็จะหอบหิ้วอาจารย์ใหม่ไปด้วย
เวลาเขียนหนังสือก็เป็นผู้นิพนธ์ร่วม ตอนแรกก็ช่วยกันเขียนในบทหนึ่งๆก่อน นานไปก็ขยับมาเขียนทั้งบท
ทำวิจัยตอนแรกก็เป็นผู้ร่วมวิจัย เวลาไปขอทุนก็ไปช่วยนำเสนอ ฝึกเขียนงานวิจัยไปเรื่อยๆ

เวลาผ่านไปไม่นาน ไม่ถึงปีทุกอย่างกลับตาลปัตรไปในทางที่ดี
อาจารย์ใหม่ท่านนี้ สอนหนังสือนักเรียนอย่างสบาย
รับงานบรรยายข้างนอกเอง แต่พอมีชั่วโมงไหนที่ไม่ไหวจึงเชิญอาจารย์สุพักตร์มาช่วย
เขียนหนังสือเอง บางที่ก็ให้อาจารย์สุพักตร์ช่วยเขียนเสริมเป็นบางบท
เรื่องวิจัยไม่ต้องพูดถึง อาจารย์ใหม่เป็นผู้วิจัยหลักได้เลย ขอทุนเอง เขียนรายงานเอง

Mentor จะหนักช่วงแรก แต่พอไม่นานก็สบาย มีคนมาสานงานต่อได้

ฟังอาจารย์เล่าให้ฟังรู้สึกชอบวิธีนี้มากครับ

วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ภาษาไทยสำหรับงานเขียนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี





วันนี้มีเวลาว่างเลยนำเรื่องที่บางท่านอาจเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ
แต่สำหรับคนไทยแท้อย่างผมแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก
ถึงแม้ว่าหลายครั้งจะติดเชื้อโรค “ไฮเปอร์กระแดะซินโดรม” อยู่บ้าง
ชนิดไทยคำ-ฝรั่งคำ (แต่เวลาพูดแบบให้เป็นฝรั่งทุกคำ กลับพูดไม่ได้)

มันแสดงถึงความรักชาติ รักวัฒนธรรมของเรา
อย่างที่ อาจารย์แม่ (รศ.สุนีย์) เคยพูดว่า “สิ้นภาษาก็เหมือนสิ้นชาติ”

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ต้องเริ่มทำงานด้านวิชาการ
ทั้งเขียนงานวิจัย บทความวิชาการ อะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย
แม้กระทั้งวิทยานิพนธ์ ไม่คิดมาก่อนว่าคนไทยหนุ่มๆหล่ออย่างเรา
จะมีปัญหาภาษาไทยไม่ใช่น้อยที่เดียว
แต่ไม่รู้จะปรึกษาใคร
มีอยู่ท่านหนึ่งที่ได้ช่วยกรุณาบอกว่าด้วยคำพูดที่เสียงดังฟังชัดว่า
“อ่านข้อความของยูแล้ว อย่าเข็กหัวจริงๆ”
ท่านคือ “รศ.ดร.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล”
นี่เป็นคำเตือนแรกที่ทำให้ผมสะดุ้ง ตกใจ และเสียความมั่นใจในตัวเองแบบสุดๆ
แต่ไม่ได้แสดงออก เดี๋ยวอาจารย์รู้ไต๋หมด

แต่ผมก็โชคดีเพราะนับจากคำพูดประโยคนั้น
อาจารย์ได้สอนผมเขียนภาษาไทยแบบจับมือเขียน
ชนิดคำต่อคำ ประโยคต่อประโยค จนจบ
และแล้วเวลาผ่านไป จนผมเรียนจบ ป.เอก
ผมกลับไปอ่านบทความหรืองานเขียนที่เคยทำในอดีต
อ่านแล้ว อยากซุกแผ่นดินหนี
แสดงว่าเราเขียนภาษาไทยได้แย่เพียงนี้เชียวหรือ??
ตอนนี้ ก็ยังแย่อยู่นะ แต่ดีกว่าแต่ก่อนมานิดหนึ่ง

เคยนึกเสมอว่า ถ้ามีคู่มือที่มาช่วยแนะนำเราอีกแรงก็คงจะดีนะ

จนเมื่อสัก 2 เดือนก่อน ผมไปพบหนังสือเล่มหนึ่ง
ชื่อ "ภาษาไทยสำหรับงานเขียนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี "
แต่งโดย มงคล เดชนครินทร์
ของสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ ปี 52

ผมอ่านชนิดรวดเดียวจบ ระหว่างนั่งฟังประชุมวิชาการที่โรงแรมปริ้นพาเลซ แถวมหานาค กทม
วันนั้นเป็นวันที่ผมมีองค์ลงประทับทรงพอดี คือเป็นวันที่มีสติดีมาก
ความจำความคิดบรรเจิดมาก
สามารถฟังวิชาการและอ่านหนังสือไปได้ทั้ง 2 ทาง
โอกาสอย่างนี้ 1 ปี จะมีอย่างนี้สัก 2 วัน (ปีนี้ใช้โควตาครบแล้วครับ)

ประเด็นที่ผู้เขียนได้นำเสนอ เช่น
การสะกด
การใช้ลักษณะนาม
การละคำขึ้นต้นที่ไม่จำเป็น
การใช้คำฟุ่มเฟือย
การใช้เครื่องหมายวรรคตอน
ฯลฯ
สำหรับตัวผมเอง ผมชอบ บทที่ 3 ของหนังสือเล่มนี้มาก
บทนี้เป็นการอธิบายการละคำขึ้นต้นที่ไม่จำเป็น
เช่น “ซึ่ง โดย สำหรับ ”
แสดงว่าผมใช้ผิดมาตลอด

อีกบทคือ การใช้บุพบท “กับ แก่ ต่อ”
ซึ่งมีความแตกต่างกัน (อุ้ย เพลอใช้คำว่า ซึ่ง นำหน้าประโยคอีกแล้ว)
ใครอยากรู้ให้ไปหาอ่านเอาเอง ราคาปก 70 บาทเท่านั้นเอง
ถูกมากๆ แต่คุณภาพหรือประโยชน์ที่จะได้รับดีกว่าหนังสือของพวกบรรดาดาราขี้โม้

ขอร้องอีกอย่างว่า
อย่าขอคนอื่นไปถ่ายเอกสารเลยนะครับ
หนังสือราคาไม่ได้แพงอะไรมากมาย คุ้มมากๆเมื่อเทียบประโยชน์กับราคา
ลงทุนกันหน่อย กระเป๋าไม่ฉีกหรอกครับ

หมอโรจน์

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

หนังสือ "หลักราชการ"

ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์นี้ผมมีเวลาว่าง ไปเจอหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง เห็นปกเเล้วรู้สึกถูกดึงดูด "หลักราชการ"
เป็นพระราชนิพนธ์ของรัชการที่ 6 ตั้งเเต่ปี 2457 เกือบร้อยปีมาเเล้ว เเต่เนื้อหายังทันสมัย
หลายประเด็นสามารถตอบคำถามหรือข้อสงสัยได้อย่างเเทงใจผมเลย
เลยส่งมาให้ลองอ่านกัน โดยนำเเบบสรุปมาให้ก่อน หากลองค้นหาใน google ก็จะเจอไฟล์
ขอให้มีความสุขกับสิ่งดีๆ อ่านเเล้วยิ่งรักเเละศรัทราพระองค์ท่านมากเลยครับ

หลักราชการ
พระนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2457
หนทางไปสู่ความสำเร็จประกอบด้วย คุณวิเศษ 10 ประการ

ความสามารถ เป็นสิ่งที่ต้องการสำหรับคนที่จะใช้เป็นผู้บังคับบัญชาคน ไม่ว่าในหน้าที่ฝ่ายทหารหรือพลเรือน และเมื่อผู้ใหญ่เขาจะเลือกหาผู้บังคับบัญชาคน เขาย่อมจะเพ่งเล็ง ดูความสามมารถมากกว่าภูมิวิชา (ถ้าเขาคิดถูก)

ความเพียร คำว่า " เพียร " แปลว่า " กล้าหาญไม่ย่อท้อต่อความยากและบากบั่น เพื่อจะข้ามความขัดข้องให้จงได้ โดยใช้ความอุตสาหะวิริยะภาพ มิให้ลดหย่อน " ผู้ที่ตีราคาว่าเป็นคนมีวิชามักจะลืมคำนึงข้อนี้ จึงไม่เข้าใจว่า เหตุใดผู้มีวิชาน้อยกว่าตน จึงกลับได้ดีมากกว่า
ความไหวพริบ แปลว่า " รู้จักสังเกตเห็นโดยไม่ต้องมีใครเตือนว่า เมื่อมีเหตุนั้นๆ จะต้องปฏิบัติอย่างนั้นๆ เพื่อให้บังเกิดผลดีที่สุดแก่กิจการทั่วไป และรีบทำการอันเห็นควรนั้นโดยฉับพลันทันท่วงที "

ความรู้เท่าถึงการ แปลว่า " รู้จักปฏิบัติการให้เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง "

ความซื่อตรงต่อหน้าที่ คือ " ตั้งใจกระทำกิจการซึ่งได้รับมอบให้เป็นของตนนั้นโดยซื่อสัตย์สุจริต ใช้ความอุตสาหะวิริยะภาพเต็มสติกำลังของตน ด้วยความมุ่งหมายให้กิจการนั้นๆ บรรลุซึ่งความสำเร็จโดยอาการอันงดงามที่สุดที่จะพึงมีหนทางจักไปได้ "

ความซื่อตรงต่อคนทั่วไป หนทางที่ดีที่สุดจะดำเนินไปเพื่อให้เป็นที่นิยมแห่งคนทั้งหลายมีอยู่ ต่อความประพฤติซื่อตรงทั่วไป รักษาตนให้เป็นคนควรที่เขาทั้งหลายจะเชื่อถือได้ โดยรักษาวาจาสัตย์ พูดอะไรเป็นนั่นไม่เหียนหันเปลี่ยนแปรคำพูดไป เพื่อความสะดวกครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง ไม่คิดเอาเปรียบใครโดยอาการอันเขาแข็งไม่ได้ ไม่ยกตนข่มท่าน หาดีใส่ตัว หาชั่วใส่เขา เมื่อผู้ใดมีไมตรีต่อก็จอบแทนด้วยไมตรีโดยสม่ำเสมอ
ความรู้จักนิสัยคน ถ้าเป็นผู้น้อยเป็นหน้าที่จะต้องศึกษาและสังเกตให้รู้นิสัยของผู้ใหญ่ ต้องรู้ว่าความคิดเห็นเป็นอย่างไร ชอบการทำงานอย่างไร ชอบหรือชังอะไร เมื่อทราบแล้วก็อาจที่จะวางความประพฤติและทางการทำงานของตนเองให้ต้องตามอัธยาศัยของผู้ใหญ่นั่นได้ ที่แนะนำเช่นนี้ไม่ใช่แปลว่าให้ สอพลอ เป็นแต่ให้ผ่อนผันให้เป็นการสะดวกที่สุดแก่การเท่านั้น................... .......ถ้าตนเป็นผู้ใหญ่มีหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาคนมากๆ การรู้จักนิสัยก็ยิ่งมีความจำเป็นยิ่งขึ้น เพราะเราไม่ใช่ฝูงแกะ ซึ่งจะต้องไม่ได้โดยวิธีร้อง " ยอ " หรือเอาไม้ไล่ตี
ความรู้จักผ่อนผัน คนโดยมากมีหน้าที่บังคับบัญชา ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนมักเข้าใจคำว่า " ผ่อนผัน " นี้ผิดกันอยู่เป็นสองจำพวกคือ จำพวก ๑ เห็นว่า การผ่อนผันเป็นสิ่งทำเสียระเบียบทางการไป จึงไม่ยอมผ่อนผันเลยและแผลงคำว่า " ผ่อนผัน " ว่า " เหลวไหล " เสียทีเดียว อีกจำพวก ๑ เห็นว่าประการใดๆ ทั้งปวง ควรจะคิดถึงความสะดวกแก่ตัวเองและบุคคลในบังคับบัญชาของตนเป็นที่ ๒ จึงยอมผ่อนผันไปเสียทุกอย่าง จนเสียทั้งวินัยและแบบแผนและหลักการทีเดียว ก็มีทั้ง ๒ จำพวกนี้เข้าใจผิดทั้ง ๒ พวก

ความมีหลักฐาน
1.มีบ้านเป็นสำนักมั่นคง คือ ไม่ใช่เที่ยวเกระเกเส ไม่แอบนอนซุกๆ ซ่อนๆ หรือเปลี่ยนย้ายจากที่โน่นไปที่นี่ เป็นหลักลอย
2.มีครอบครัวอันมั่นคง คือ มีภรรยาเป็นเนื้อเป็นตัว ซึ่งจะออกหน้าออกตาไปวัดไปวาได้ ไม่ใช่หาหญิงแพศยามาเลี้ยงไว้สำหรับความพอใจชั่วคราว
3.ตั้งตนไว้ในที่ชอบ คือ ไม่ประพฤติเป็นคนสำมะเลเทเมา สูบฝิ่นกินเหล้าหรือเป็นนักเลงเล่นเลี้ยงและเล่นผู้หญิง ซึ่งล้วนแต่เป็นอบายมุข

ความจงรักภักดี แปลว่า " ความสละตน เพื่อประโยชน์แห่งท่าน " คิดถึงแม้ว่าตนตนจะได้รับความเดือดร้อน ความรำคาญ ตกระกำลำบาก หรือจนถึงต้องสิ้นชีวิตเป็นที่รักก็ย่อมได้ทั้งสิ้น เพื่อมุ่งประโยชน์แท้จริงให้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

ผศ. รอ. นพ. ดร. สุมาส วงศ์สุนพรัตน์

มีบทความหนึ่งที่ผมได้อ่านเเละforward ไปให้เพื่อนๆอ่านมานานเเล้ว ขอลอกมาโพสต์อีกอครั้ง


ผมดูรายการเกมส์กลยุทธ์ รู้สึกทึ่งกับกระบวนการคิดของท่านมาก เลยลองค้นหาประวัติของท่าน ท่านคือ..............
ผศ. รอ. นพ. ดร. สุมาส วงศ์สุนพรัตน์
(รู้สึกว่าเป็นcandidate DD ของการบินไทยด้วย)
ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มียศนำหน้าชื่อยาวเหยียดคนหนึ่งของเมืองไทย และดูหลากหลายอาชีพอีกต่างหาก ดร. สุมาส วงศ์สุนพรัตน์ ให้เกียรติเป็นคอลัมนิสต์กับ marketeer มาหลายฉบับ คราวนี้รู้จักตัวจริง เสียงจริงของเขาเสียที่
………………………………………………….
อาจารย์เรียนแพทย์มาก่อน
ใช่ ผมจบแพทย์ ศิริราช

แล้วทำไมจึงเปลี่ยนสายงาน
ไม่ได้เปลี่ยน พอจบก็ทำแพทย์ก่อน ไปเข้าทหารอากาศ หลักสูตรแพทย์เวชศาสตร์การบิน ผมเป็น Flight Sergeant อยู่ฝูงตาคลีแอร์เบส นครสวรรค์ ซึ่งหลักสูตรนี้ทำให้ผมมีโอกาสได้บินจริงๆ ด้วย

แล้วเกี่ยวข้องกับแพทย์อย่างไร
การบินเครื่องอย่าง F 5 หรือ F 16 พวกนี้มันเป็น High Performance เวลานักบินไปควบคุมจึงต้องรู้เกี่ยวกับสภาพร่างกาย การดู การอะไรต่างๆ เพราะมันต้องดึง G สูง สมองจะขาดเลือด ต้องมีเรื่องการตัดสินใจแบบฉับพลันเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมรู้ เพราะเรียนแพทย์มาก่อน

คือคนที่เข้ามาเรียนหลักสูตรนี้เบสิกเขาคือแพทย์
ใช่ แล้วก็ต้องผ่านการทดสอบของทหาร

เป็นนักบินอยู่นานเท่าไร
ไปอยู่ที่ตาคลี 3 ปี จนเป็นเรือเอกแล้วก็ออก ช่วงที่เป็นทหารอากาศตอนนั้น ตาคลีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 200 กิโลเอง เสาร์อาทิตย์ผมก็กลับ วิ่งเข้าโรงพยาบาลตรวจคนไข้ เป็นมือปืนรับจ้างตามโรงพยาบาลควบคู่ไปด้วย

และผมลงเรียนมสธ.ไว้ด้วย จึงได้ปริญญาตรีทาง Management อีกใบ พอออกจากทหารอากาศ จึงได้ไปทำงานในบริษัท เป็น Project Manager ทำด้านแมเนจเม้นท์บ้าง มาร์เก็ตติ้งบ้าง ควบคู่กับการเทรนผิวหนัง ซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะด้านด้วย พอทำได้สัก 3 ปี ผมก็ไปอเมริกา ไปทำงานด้านบริหารอยู่เกือบ 2 ปีที่ฟลอริด้า

อาจารย์เลือกที่จะไปอเมริกาหรือเป็นโอกาสเหมาะที่เข้ามา
ผมเลือก ผมเป็นคนชอบวางแผนล่วงหน้า เราอยากเป็นอะไร เราก็นึกไว้ในใจ เป็นหมอ เป็นนักบิน เป็นดอกเตอร์ ตอนเด็กๆ เห็นดอกเตอร์มาพูดทางทีวี โห เก่งจังเลย คอมเมนท์อะไร คนก็เชื่อ มีอิมแพ็คกับประเทศ อย่างแต่ก่อนด็อกเตอร์อำนวย อายุ 28 ท่านก็เป็นรัฐมนตรีแล้ว เราก็อิมเพรสมาตลอด ก็แพลนอยู่แล้วว่าถ้ามีโอกาสเราจะไปทำด็อกเตอร์ที่นั่น แต่ไปถึงก็ไปเรียน MBA ก่อน ที่ Carnegie Mellon เรียนอยู่ 2 ปี พร้อมๆ กับทำงานไปด้วย

การเรียน MBA ถือเป็นอีกหนึ่งในแผนที่วางไว้
ใช่ ผมเมเจอร์มาร์เก็ตติ้งและไฟแนนซ์ จบแล้วก็ทำงานต่อ มันจะเป็นเรื่องของเรียนสลับกับทำงาน เพาะผมว่ามันต้อง Reality มากๆ ผมคิดว่าถ้าเรียนด็อกเตอร์อย่างเดียวมันจะพูดไม่รู้เรื่อง มันไม่เรียลไง เวลาเขาพูดที เราก็อะไรนะๆ ต้องเอามาแปลอีกที หรือบางทีแปลแล้วยังเอามา Apply ไม่ได้

พอทำงานไปอีกสักพัก จึงได้เรียน Ph.D. ที่ Cornell ผมใช้เวลาเรียน 5 ปี เพราะว่า Ph.D. ด้านบิสซิเนสมันนาน แล้วที่ผมเลือกมันเป็นฟูลคอร์ส ซึ่งที่จริงจะมีอีกหลักสูตรที่เรียน 3 ปีก็ได้ด็อกเตอร์เหมือนกัน แต่ผมคิดว่าทำแล้ว ต้องทำดีที่สุด เลยยอมเสียเวลาเรียน 5 ปี

อาจารย์ใช้ทุนส่วนตัวหรือสอบชิงทุน
ไม่มีทุนหรอกครับ ผมสอบเข้าไปเรียนแล้วค่อยไปขอทุนที่นั่นเอา ยูดีๆ ที่อเมริกาเขาจะเป็นระบบแบบนี้แหละ มีค่ากิน ค่าเรียนให้เป็น Free Money เลย แล้วก็ไม่ต้องคืนด้วย แต่ปัญหาคือมันเข้ายากไง Ph.D. แทร็กที่ผมเลือก ต้องสอบ GMAT ได้สูงมาก ผมสอบ GMAT ครั้งที่ 2 ถึงได้คะแนนมากกว่าที่เขาต้องการ อย่างที่คอร์แนล เขาเปิดมาเป็นร้อยปีแล้ว เพิ่งมีผมเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เรียนหลักสูตรนี้ เพราะส่วนใหญ่จะเรียนเศรษฐศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมีมากกว่า ผมก็เพิ่งมารู้ว่าเป็นคนไทยคนแรกของหลักสูตรตอนที่โปรเฟสเซอร์มาบอกนั่นล่ะ

อาจารย์เป็นนักเรียนเรียนเก่งมาตั้งแต่เด็ก
ก็ใช้ได้ ได้ที่หนึ่ง แต่ผมทำกิจกรรมเยอะ เล่นดนตรี แข่งกีฬา มีอะไรทำหมด

เห็นบอกว่าตอนเรียนได้ทำงาน Consult ด้วย
ใช่ ก็สลับกัน ทั้งทำ ทั้งเรียน พอเสร็จแล้วก็เป็นอาจารย์ ต่อที่คอร์แนล สอน MBA ในบิสสิเนสสกูล สอนอยู่ 2 ปี มีลูกศิษย์เป็นคนไทยด้วย รู้สึกจะสัก 5 คน พอเสร็จจากคอร์แนลก็ไปเป็น Assistant Professor ที่วิสคอนซิน เป็น Tenure Track คือการเป็นโปรเฟสเซอร์ที่อเมริกามี 2 แบบ คือแบบผม หรือไม่ก็แบบ Non Tenure คือจะมาสอนแบบ Visiting ซึ่งข้อแตกต่างคือ ถ้าอยู่ใน Tenure Track ทางมหาวิทยาลัยจะไล่เราไม่ได้ เราอยู่ที่นั่นได้ตลอดชีวิต นอกเสียจากว่าเราเลือกไปที่อื่นเอง

ช่วงนั้นอาจารย์ได้กลับเมืองไทยบ้างหรือเปล่า
ผมจะกลับเมืองไทยช่วงคริสต์มาส กลับมาช่วงต้นธันวาถึงกลางเดือนมกรา ช่วงซัมเมอร์คือพฤษภาก็กลับมาอีกแล้ว ปีนึงนี่อยู่เมืองไทยเกือบ 6 เดือน

ช่วงกลับมาเมืองไทยเพื่อมาพักผ่อนหรือทำอย่างอื่น
กลับมาทำงานครับ เปลี่ยนประเทศแต่ชีวิตเหมือนเดิมเปี๊ยบเลย สอนที่จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ นิด้า เอแบค ม.กรุงเทพ หลักสูตร Executive MBA บ้าง International MBA บ้าง บางอันก็เป็น DBA อย่างเช่น Joint DBA นิด้า แล้วก็มี Ph.D. ด้วย คือเขาจะ Schedule ให้ผมเลยว่าต้องทำอะไรบ้าง

ใช้ชีวิตทำงาน 2 ตำแหน่ง 2 ประเทศอยู่นานเท่าไร
เกือบ 5 ปี แต่จริงๆ แล้วอยู่อเมริกาทั้งหมดเกือบ 15 ปี

อาจารย์กลับมาอยู่เมืองไทยเต็มตัวตั้งแต่เมื่อไร
เกือบปีแล้ว ตอนที่จะกลับ ทุกคนถามหมดว่ากลับทำไม ตำแหน่งงานมันมั่นคงมาก ผมก็บอกว่าผมไม่ได้คิดจะอยู่ที่อเมริกาตั้งแต่ต้นแล้ว ผมแค่มา Turn Pro ก็บอกเขาไปตรงๆ อยากไปหาประสบการณ์แล้วก็กลับไปทำงานที่เมืองไทย เขาก็บอกโอเค แต่ในใจคงนึกว่าไม่น่ามา Invest กับผมเลย (หัวเราะ)

ก็เป็นอีกแผนที่วางไว้ให้ตัวเองตั้งแต่ต้น
ใช่ แล้วประกอบกับคุณแม่ผมผ่าตัดหัวใจก็เลยกลับเลย ตอนแรกว่าจะอยู่ต่ออีกสักหน่อย เพราะผมทำธุรกิจร้านอาหารอยู่ที่เซาท์ แคโรไลน่า และพิตส์เบิร์กด้วย

กลับมาประกอบอาชีพอะไร
ก็ไม่ได้ต่างจากเดิม สอนๆๆ คอนซัลท์ๆๆ ตอนนี้ก็สอนลดลงหน่อย ส่วนงานก็เป็น CEO บ้าง COO บ้าง อย่างที่ฟิวเจอร์พาร์ครังสิตนี่ก็คอนซัลท์เขามาหลายเดือนแล้ว ตอนแรกก็มาเฉพาะวันเสาร์ พอโปรเจ็กที่อื่นจบ จึงได้มาทำที่นี่ทุกวัน นอกจากที่นี่ก็คอนซัลท์ให้โอสถสภา ดูโปรดักส์หลายตัวเหมือนกัน หลักๆ ก็ 2 ที่นี้ ที่เหลือก็เป็นจ็อบๆ ไป แล้วก็มีเรื่องงานวิจัยเข้ามาบ้าง

แล้วงานด้านสอน จะสอนควบคู่งานประจำแบบนี้ไปเรื่อยๆ
ใช่ การสอนถือเป็นเรื่องสำคัญ คนที่มีความรู้ และเรียนสูงควรจะต้องทำ ถือว่าเป็น Social Contribution มันจำเป็นมาก ยิ่งผมมีประสบการณ์ในด้าน Industrial ด้วยแล้ว ทำให้การสอนแอ็คทีฟมากขึ้น ผมจะไม่ทิ้ง

อาจารย์มีสไตล์การสอนแบบไหน
สไตล์การสอนไม่ว่าอยู่ที่ไหนผมจะเป็นแบบเดียวกันหมด คือ Practical มากๆ เริ่มจากเคสจริงๆ แล้วเอาทฤษฎีมาจับ สอนให้เด็กมี Analytical Skill ให้เข้ามี Systematic Approach เพราะปัญหาในธุรกิจมันมีได้ไม่สิ้นสุด และมันไม่มี One Best Solution หรอก แต่มี Several Wrong Answers

ทำไมเลือกที่จะสอนและทำงานคอนซัลท์คู่กัน
ถ้าคุณ สอนอย่างเดียว ปีสองปีนี่หลุดเลย วิชาการมันไม่ทันของจริงหรอก ต้อง Stay Fresh, Stay Current in the Industry ไปด้วย คือต้องทำงานไปด้วย สอนไปด้วย คิดดูกว่าจะเขียนตำราวิชาการเล่มหนึ่ง สองปีใช้เก็บข้อมูล กว่าจะได้พิมพ์อีก พอพิมพ์ออกมาก็เกือบเก่าแล้ว สอนได้ครึ่งปีก็เก่าพอดี มันจึงต้องมาอยู่ใน Industry นำประสบการณ์จากตรงนั้นมาประกอบด้วย แต่ในขณะเดียวกัน พวกที่ทำงานอย่างเดียว ก็จะเป็นแบบไม่อ่านหนังสือ ไม่ขวนขวาย จะเอาแต่ประสบการณ์ตัวเองเป็นหลัก บอกว่าเชื่อประสบการณ์ตัวเอง เพราะเคยทำมาแล้วเวิร์ก แต่ลืมไปว่ามันเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทุกอย่างมันเปลี่ยนหมด แค่เรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียวก็เปลี่ยนไปมากแล้ว

บริษัทหลายๆ แห่งเข้ามาหาอาจารย์เอง
ครับ กลับมาอยู่เมืองไทย ผมไม่เคยไปสมัครที่ไหน ผมเองก็ไม่รู้จักใคร เพราะผมอยู่เมืองนอกมานาน มีพรรคพวกเยอะก็จริง แต่ก็ไม่ได้ติดต่อกันนาน ส่วนใหญ่คนก็เห็นผมทำโน่น ทำนี่แล้วก็ติดต่อเข้ามาเอง เราก็ดูว่าตรงกับที่เราต้องการหรือเปล่า เขาก็ดูผม ก็ดูๆ กันทั้ง 2 ฝ่าย

อย่างนี้พกนามบัตรทีละกี่ใบ
ก็มีนามบัตรทั้งตอนทำหลักสูตรต่างๆ นามบัตรของปิยเวช ของที่นี่ (ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต) แล้วก็ Bite Bangkok ของโอสถสภา


นี่ผ่านมาแค่ปีเดียว ปีหน้าไม่ต้องมีนามบัตรเป็น 2 เท่าหรือ
ปีหน้า ผมก็ไม่รู้หรอก เรื่องงานนี่ ผมไม่ได้คาดหวังเรื่องยศ เรื่องตำแหน่งอะไรเลย ยศ ตำแหน่งต่างๆ ที่เรียนมา บอกตรงๆ ว่าไม่อยากได้เลยนะ อยากจะได้ประสบการณ์ ได้ความรู้มากกว่า ผมว่าตรงนั้นสำคัญกว่า เวลาคนเข้ามาคุยกับเรา ทำงานกับเรา เขาก็จะรู้ได้ It doesn’t take long เขาก็จะรู้ว่าเราเป็นอย่างไร แตกต่างกับคนอื่นอย่างไร

ถ้ามีคนมาถามว่าอาจารย์ ทำงานอะไร จะตอบเขาว่าอย่างไร
คุณจะให้ผมตอบงานช่วงไหนล่ะ หรือส่วนมากก็ตอบว่าเป็นงานรับจ้าง เป็นลูกจ้างชั่วคราว

หรือน่าจะถามกลับว่าคุณมีเวลาเท่าไรที่จะฟัง
เอ่อ คุณมีเวลาเท่าไรก็ดี (หัวเราะ)

ที่เล่ามาตั้งแต่ต้น ดูเหมือนอาจารย์ทำงานหนักจนไม่มีวันเสาร์อาทิตย์
วันเสาร์อาทิตย์มีก็ เพียงแต่จะทำอะไรเท่านั้นเอง โดยทั่วไปก็เชิญไปพูด ไปสอน แต่ก็มีช่วงว่าง ว่างเต็มวันก็มีบ้าง ก็โอเคนะ มีเวลาพักผ่อน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แฮปปี้กับทุกอย่าง

ไม่เคยนั่งนึกใช่ไหมว่านี่เราทำอะไรอยู่
ไม่เคยมีแม้แต่แว้บเดียวเลย ผม Enjoy every single moment นั่งคุยกันอยู่นี่ ผมก็เอนจอย ประชุมเมื่อเช้าก็สนุก ผมว่าทัศนคติตรงนี้สำคัญนะ ตราบใดที่เราคิดแบบนี้ เราก็จะทำอะไรได้ไม่เบื่อ เพราะในที่สุดแล้วชีวิตมันก็ตรงนี้แหละ ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไร ตำแหน่งอะไร ยศอะไร ได้เงินแค่ไหน ถ้าคุณไม่เอนจอย อย่าทำดีกว่า คุณทรมานตัวเองอยู่

นอกจากงานคอลัมนิสต์แล้ว อาจารย์มีงานเขียนอย่างอื่นหรือเปล่า
รีเสิร์ชมีมาเรื่อยๆ บริษัทต่างๆ ติดต่อมา เขียนหนังสือก็มีติดต่อมาแต่ไม่มีเวลา เขียนหนังสือเล่มหนึ่งต้องใช้เวลาเยอะนะ แล้วพอเขียนเป็นเล่มมันต้องมีเรื่อง Politic เข้ามาล่ะ ต้องเอาบทนี้ขึ้นก่อน ต้องตามฟอร์แมทที่เขากำหนด มันไม่ใช่แบบที่เราต้องการแล้ว แล้วต้องเลือกหัวข้อที่น่าจะขายดี คือมันจะไม่เป็นตามที่ควรจะเป็น เรื่องที่เรามองว่าสำคัญ แต่ถ้ามันไม่น่าจะขายได้ ก็อาจกลายเป็นแค่บทเล็กๆ ในหนังสือ ผมก็เลยคิดว่าเรื่องนี้เก็บไว้ก่อนดีกว่า

แต่การเขียนหนังสือถือว่าเป็นการให้ประโยชน์กลับสู่สังคมในวงกว้างซึ่งมันเป็นสิ่งที่อาจารย์ตั้งเป้าหมายไว้
ใช่ แต่ก็ต้องดูด้วยว่าคนที่เขาให้ผมเขียน เขาจะให้ Flexibility กับผมแค่ไหน ถ้าให้มาก ผมก็เขียนให้เลย แต่ส่วนมากก็มีกฎเกณฑ์มากมายเหลือเกิน เหมือนเขียนให้เขาเพื่อให้เขาได้กำไร อย่างนั้นจะทำไปทำไม มันไม่ใช่เรื่องของ Contribution เลย

ทราบมาว่าอาจารย์มีบ้านแต่ไม่ได้กลับไปอยู่เลย
ใช่ ก็เสียดายเงินเหมือนกันนะ ผมปลูกบ้านไว้ที่กฤษณานคร ก.ม. 7 บางนา บ้าน 280 ตารางวา 5 ห้องนอน 5 ห้องน้ำ ปลูกไว้ก่อนไปอเมริกา ก็ 15-16 ปีแล้ว คนใช้อยู่ตลอด ตัวเองไม่เคยอยู่เลย งานผมก็อยู่แต่ในเมือง ตอนเย็นก็สอนในเมือง 2 อาทิตย์ก็เอาเสื้อกลับไปให้เขาซัก แล้วเอาเสื้อใหม่ใส่รถกลับมานอนคอนโดที่อโศก

เชื่อไหมว่าบ้านหลังนั้นขโมยเข้าปีละ 2-3 หน จนเป็นเรื่องปกติ ตำรวจก็มาจนเบื่อ ตอนหลังก็ทิ้งไว้แต่เฟอร์นิเจอร์ กับโทรทัศน์เครื่องเล็กๆ

อาจารย์นอนวันละกี่ชั่วโมง
ปกติเลย 6-7 ชั่วโมง แต่ก็มีนอนไม่หลับบ้าง เวลางานเครียด

ความที่ตารางงานค่อนข้างแน่นแบบนี้ ถ้าอยากหยุดพักผ่อนไปเที่ยวแบบยาวๆ มันจะเป็นไปได้ไหม
ได้ สบาย เพียงแต่ตอนนี้งานมันยังมาเรื่อยๆ ตอนนี้ก็คิดอยู่เหมือนกันเสาร์ อาทิตย์อยากไปดำน้ำ หรือไปเปลี่ยนที่ เปลี่ยนบรรยากาศ แต่บางทีมันไปคนเดียวไม่สนุกไง ต้องมีเพื่อน แล้วตอนนี้ก็ยังอยู่คนเดียว ส่วนพรรคพวกผมก็อยู่กับครอบครัว จะนัดกันก็ยากหน่อย

อาจารย์ทำธุรกิจส่วนตัวด้วยหรือเปล่า
ตอนนี้ไม่ได้ทำ มีคนถามเยอะนะ ถ้าทำธุรกิจมันเป็นเรื่องของเงิน เรื่อง Profit Maximization แต่ถ้าเป็นคอนซัลแทนท์มันก็อีกแบบหนึ่ง

เอาง่ายๆ ถ้าผมเปิดบริษัทคอนซัลท์กับเป็นคอนซัลแทนท์แบบที่เป็นอยู่ นี่มันต่างกันเลยนะ บริษัทคอนซัลท์ เขาตั้งเพื่อหาเงิน ดังนั้นเขาจะไม่แนะนำอะไรที่ทำให้เขามี Cost หรือ Expense เยอะ เขาจะรักษา Profit เขา ลูกค้าก็แฮปปี้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นสแตนด์อโลนแบบผม เราทำให้ลูกค้าได้เต็มร้อยเลย ค่าจ้างมันตายตัว ตกลงทำก็คือทำแล้ว

อาจารย์ไม่คิดเรื่องต่อยอดงานที่ทำอยู่
At some points เราต้องเลือกว่าเราอยากเป็นโปรเฟสชันนอลทางด้านไหน ผมถือว่าคนเราต้องมี Principle และตรงนี้ถือว่าเป็นจุดที่แยกคนให้ต่างกันนะ พอคนเติบโตขึ้น รู้มากขึ้น มันมีทางที่จะทำอะไรได้เยอะเลย แต่ถ้าคุณเลือกไปอยู่ในบางจุด มันจะไม่แฟร์กับหลายๆ คน เพราะคุณได้เข้าไปรู้อะไรอินไซด์แล้ว แล้วคุณก็มาแข่งกับเขา มันไม่ดีแน่

เราคอนซัลท์ให้หลายที่ เราเห็นอยู่แล้วว่าช่องทางการทำเงินมาจากไหนบ้าง แต่มันก็เหมือนถ้าเราไปทำ เราไปแข่งกับลูกค้านะ เราเข้ามาให้คำปรึกษาเขา เราเห็นช่องว่าง เห็นจุดอ่อนตั้งหลายอย่าง แล้วเสร็จเรามาเปิดธุรกิจ มา Beat เขา ผมว่ามันต้องมี Business Ethic นะยิ่งผมเป็นอาจารย์ด้วย สอนนักเรียนว่าอย่าทำอย่างนั้น อย่างนี้ แล้วเราก็ทำเอง มันจะเป็นไงล่ะ

มองว่ามันไปด้วยกันไม่ได้
ใช่ มันไม่ดี ผมว่าถ้าจะอยู่ในตำแหน่งแบบนี้ คลีนดีกว่า ถ้าจะไปทั้งคู่มันไม่ค่อยสวยเท่าไร แล้วผมก็คอนซัลท์ให้หลาย Industry ด้วย กลายเป็นว่าจะทำอะไร ก็กลายเป็นแข่งกับลูกค้าตัวเองไปหมด

ถ้าพูดเรื่องจะทำธุรกิจเอง คงไม่ใช่ทางด้านคอนซัลแทนท์ คงเป็นธุรกิจอย่างอื่นไปเลย แล้วคงต้องมีเวลาไปทุ่มให้มากกว่านี้ ซึ่งผมกลัวว่าบทบาทคอนซัลแทนท์ที่ทำอยู่มันอาจลดลง

ความมุ่งหวังด้านอาชีพของอาจารย์คืออะไร
ผมไม่ได้ต้องการร่ำรวยมหาศาล ผมแค่มีรายได้ระดับหนึ่งที่อยู่ได้ ไม่ใช่จะกิน จะใช้อะไรทีต้องคิดมาก แบบนี้ก็ไม่ใช่ ผมอยากมีงานที่ดี มั่นคง มีการ Contribute ให้กับทั้งสังคม และองค์กรที่ผมทำ งานแบบนี้มันมีค่ากับผมมากกว่าการที่เราคิดถึงเรื่องเงินอย่างเดียว ซึ่งมันก็ย้อนกลับไปตอบว่าทำไมผมถึงไม่ได้เริ่มทำธุรกิจ

เทคนิคการประชุมคณะกรรมการ

ผมได้มีโอกาสไปฟังบรรยายของ
รศ.ดร.สุพักตร์ พิบูลย์

อาจารย์ได้กรุณาเเนะนำเว็บบล็อกที่น่าสนใจที่ท่านได้เขียนไว้
ผมได้เปรย....จนมีคนที่ สคร.8 ทวงให้ผมรีบส่งให้
ว่างๆลองเข้าไปดูนะครับ ได้ประโยชน์มากเลยทีเดียว
เรื่องเเรก : เทคนิคการประชุมคณะกรรมการ
http://gotoknow.org/blog/sup003/181597

เรื่องที่ 2: การนำเสนอผลงานวิจัยเข้าสู่วาระเรื่องแจ้งเพื่อทราบ 20-30 นาที
http://gotoknow.org/blog/sup003/181628

เเล้วผมจะทยอยส่งเรื่องราวที่น่าสนใจมาเป็นระยะๆ
ท่านใดไม่ประสงค์ให้ผมส่งถึงก็เมลล์มาบอกกันได้นะครับ

ขอส่งท้ายด้วยพุทธสุภาษิต

โยนิโสสํวิธาเนน สุขํ ปปฺโปติ ปณฺฑิโต
ด้วยการจัดการอย่างแยบคาย บัณฑิตก็ลุสุขสมหมาย

ด้วยรักเเละปราถนาดี
หมอโรจน์

เหตุเกิดเพราะน้ำ......... เเท้

พี่ๆ ลองอ่านดูครับ

จาก นสพ ไทยรัฐ 29 ส.ค. 51
เหตุ เกิดเพราะน้ำล้างก้น

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี มีพระผู้ใหญ่สองรูป พระวินัยธร เชี่ยวชาญทางวินัย อีกรูป พระธรรมกถึก เชี่ยวชาญทางแสดงธรรม ทั้งสองรูป มีคนนับถือมาก ลูกศิษย์ลูกหาก็มาก วันหนึ่ง พระธรรมกถึก เข้าห้องน้ำ...ทำธุระเสร็จ ออกมา พระวินัยธร ก็เข้าไปใช้ต่อ เจอน้ำเหลืออยู่ในหม้อ พระไม่ได้มีแค่พระวินัย 227 ข้อ ที่ต้องทบทวนกันทุกวันพระ 15 ค่ำ ที่เรียกว่าลงปาติโมกข์ เท่านั้น นัยของพระยังมีอีกมาก เรียกว่าวินัยนอกปาติโมกข์ เช่น วัจจกุฏิวัตร ข้อปฏิบัติในการใช้ห้องน้ำ ข้อปฏิบัติหนึ่ง เมื่อใช้หม้อตักน้ำชำระแล้ว ต้องใช้น้ำให้หมด เหลือไว้ไม่ได้ พระวินัยธรออกจากห้องน้ำ ตามไปถามพระธรรมกถึก ปรับว่าเป็นอาบัติ พระธรรมกถึกยอมรับ “วัตร” ข้อปฏิบัติ แต่ยืนยันว่า ข้อนี้ไม่มีบทลงโทษ จึงไม่ยอมรับการปรับอาบัติ พระวินัยธรได้ที ชี้ว่า พระที่ทำผิดกฎ ภาษาวินัยคือ ทุกกฏ เมื่อไม่รับผิด ก็ต้องทำอุกเขปนียกรรม (พระด้วยกัน ไม่ต้อนรับ ไม่เอื้อเฟื้อดูแล) พระธรรมกถึกไม่ยอม เมื่อพระอาจารย์ไม่ยอม ลูกศิษย์สองอาจารย์ก็พลอยไม่ยอม แยกอุโบสถสังฆกรรมกัน “สังฆเภท” ครั้งแรก เกิดขึ้นตอนนี้เอง พระพุทธเจ้าประทับอยู่โฆสิตาราม ทรงอยากให้พระเลิกทะเลาะกัน เสด็จไปหาพระวินัยธรก่อน ตรัสว่า การประกาศตัดสินพระว่าผิด...ต้องพิจารณาตัวบุคคล ถ้าเป็นพหุสูตร มีคนนับถือมาก มีพวกมาก การลงอุกเขปนียกรรม อาจทำให้สงฆ์แตกแยกจากกันได้... ทรงขอให้พระวินัยธร รำลึกว่า เรื่องสังฆเภท สำคัญกว่า เรื่องใดทั้งสิ้น จากนั้นก็เสด็จไปหาพระธรรมกถึก ตรัสว่า พระระดับพระ วินัยธร เชี่ยวชาญวินัย มีคนนับถือมาก วินิจฉัยว่าเป็นอาบัติเล็กน้อย ก็ควรปลงอาบัติเสีย ไม่น่าจะเสียหาย หากยอมสละทิฏฐิมานะ ผ่อนผันตามข้อวินิจฉัยของพระวินัยธร ย่อมจะเป็นการรักษาสามัคคีในหมู่สงฆ์ ซึ่งมีความสำคัญกว่าเรื่องอื่น พระพุทธองค์ทรงพยายามทำให้สงฆ์สองฝ่ายกลับมาสามัคคีกัน เมื่อไม่ได้ผล ก็เสด็จไปปลีกวิเวกในป่ารักขิตวัน เป็นที่มาของตำนาน ช้างปาลิไลยกะถวายอ้อย และลิงถวายรวงผึ้ง สังฆเภทรอบนี้จบลง ตรงชาวเมืองโกสัมพี คว่ำบาตรพระสองฝ่าย ไม่กราบไหว้ ไม่ใส่บาตร จนสิ้นพยศ ตามไปขอขมาพระพุทธเจ้า และกลับไปคืนดีกันเหมือนเก่า นับแต่สมัยพุทธกาลจนมาถึงบัดนี้ ยังไม่เคยมีกรณีพระแตกแยกกันเพราะปัญหาน้ำล้างก้นอีก เเต่เเตกเเยกเรื่องอื่นหรือเปล่าไม่รุ้??

แง่คิดที่ได้จากเรื่องนี้ ก็คงจะเป็นเรื่องสามัคคี...นี่แหละครับ

หมอโรจน์

ผู้ประกอบการสังคม

สวัสดีครับศิษย์พี่เเละมิตรรักทุกท่าน

ก่อนที่จะไปช้อปหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือเเห่งชาติ เหลือบไปเห็นหนังสือเล่มหนังที่หัวเตียงที่ซื้อไว้เมื่อกลางปีที่เเล้ว
ว่าจะอ่านมาให้จบมาตั้งนานเเล้ว เเต่จนเเล้วจนรอดก็พลัดมาเรื่อยๆๆๆๆๆๆๆๆ

หนังสือชื่อ How to Change the World: Social Entrepreneurs and the Power of the New Deals
เขียนโดย David Bornstein เเปลเป็นไทยว่า "ผู้ประกอบการสังคม : พลังความคิดใหม่เพื่อการเปลี่ยนเเปลงโลก"
เเค่ชื่อจากปกหน้าก็อลังการเเล้ว

ขออนุญาตเเนะนำให้ทุกท่านได้อ่านถ้ามีเวลานะครับ เล่มละ 320 บาท
(จำได้ว่าตอนซื้อได้ส่วนลดหลายบาทอยู่ น่าจะไม่ถึง 300)

เมื่อพลิกไปที่ปกหลัง เขาเขียนว่า" ในขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ผลงานด้านเศรฐกิจ ผู้ประกอบการสังคมสร้างสรรค์ผลงานด้านการเปลี่ยนเเปลงสังคม David Bornstein เขียนว่า ผู้ประกอบการสังคมคือบุคคลที่มุ่งมั้นเเละมีความคิดสร้างสรรค์เป็นผู้ต้งข้อสงสัยต่อสภาพเดิม ใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆ ปฏิเสธที่จะยอมเเพ้เเละเปลี่ยนเเปลงดลกให้ดีกว่าเดิม

เเสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการตัดสินในเเน่วเเน่เเละความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
คนเพียงคนเดียวก็สามารถสร้างความเเตกต่างได้อย่างน่าอัศจรรย์"

ปกในเขาได้ยก คำพูดของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์
ว่า
"เมตตาจิตที่เเท้จริงเป็นอะไรมากกว่าการโยนสตางค์ให้เเก่ขอทาน เมตตาจิตเป็นการตระหนักโครงสร้างที่ทำให้เกิดขอทานที่จำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยน"

ยิ่งเห็นสารบัญ ถึงหัวข้อที่เขาเล่า เเล้วน่าตื่นตะลึงมาก..............
ตัวอย่างหัวข้อ ซึ่งเขาสรุปจากบุคลตัวอย่าง เช่น
เเนวปฏิบัติสี่ประการขององค์กรที่มีความคิดสร้างสรรค์ ได้เเก่
การรับฟังอย่างมีระบบ
ใส่ใจกับข้อยกเว้น
ออกเเบบวิธีเเก้ปัญหาที่เเท้จริงเพื่อใช้กับคนจริงๆ
เน้นที่คุณภาพมนุษย์
คุณสมบัติหกอย่างของผุ้ประกอบการสังคมที่ประสบความสำเร็จ
ความเต็มใจที่จะเเก้ไขตนเอง
ความเต็มใจที่จะเเบ่งความดีความชอบให้ผู้อื่น
ความเต็มใจที่จะเป็นอิสระจากโครงสร้างที่มั่งคง
ความเต็มใจที่จะข้ามขอบเขตของสาขาวิชาชีพ
ความเต็มใจที่ยะทำงานอย่างเงียบๆ
เเรงผลักผลักดันด้านจริยธรรมที่มั่งคง

ไม่รู้ว่าที่ทำงานของผมเข้าทางทั้งหมดทุกข้อหรือเปล่า????

ตั้งใจว่าระหว่างที่เเอบหนีไปประชุมที่สำนักวัณโรคจะพยายามอ่านให้จบครับ
เเละจะเเวะไปงานหนังสือด้วย เเล้วว่างๆ จะมาเล่าให้ฟังใหม่

อย่าพึงเบื่อก็เเล้วกันครับ

หมอโรจน์

ปริญญาในพระพุทธศาสนา

ผมไปเจอเทศนาของท่านเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์(ศ.ดร.ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ดีมากๆ
อยากอ่านเต็มๆ ตามลิงค์ได้ข้างล่าง
http://www.watprayoon.org/index.php?topgroupid=1&subgroupid=512&groupid=89
เเละถ้าจะฟังตามลิงค์ข้างล่าง
http://www.watprayoon.org/index.php?topgroupid=1&subgroupid=455&groupid=61

ผมลอกมาให้ดูด้วย.........

ในช่วงฤดูกาลประสาทปริญญา หรือพระราชทานปริญญาบัตร ที่นั่น ที่นี่ เราก็จะได้ข่าวว่า มหาวิทยาลัยแห่งนั้นแห่งนี้ มีพิธีพระราชทานและประทานปริญญาบัตร ปริญญานั้นเป็นเรื่องของชาวโลก เรียกว่าปริญญาบัตร จบปริญญาตรี ก็เป็นปริญญาชั้นปริญญาตรี สูงขึ้นไปก็เป็นปริญญาโทสูงขึ้นไปอีกก็เป็นปริญญาเอก แต่ไม่ใช่ปริญญาในพระพุทธศาสนา ปริญญาในพระพุทธศาสนาใครก็มีสิทธิ์ได้รับปริญญานี้ ไม่จำเป็นจะต้องไปเข้าห้องเรียนในมหาวิทยาลัยมาฟังเทศน์วัดประยุรวงศาวาสอย่างสม่ำเสมอ ก็ได้ปริญญา ๓ ขั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ท่านที่มาฟังอาตมภาพและพระสงฆ์ในวัดประยุรวงศาวาสแสดงพระธรรมเทศนามาหลายครั้ง ลองประเมินตนเองว่าวันนี้จบปริญญาอะไรบ้าง มี ๓ ขั้นเหมือนกัน ๓ ขั้นนี้พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประทานไว้ ดังพระบาลีที่ว่า ตีหิ ปริญฺญฺาหิ ปริชาเนยฺย เป็นต้น แปลความว่า คนเราควรรู้ หรือรอบรู้ด้วยปริญญา ๓ ขั้น คือ
๑. ญาตปริญญา
๒. ตีรณปริญญา
๓. ปหานปริญญา
ถ้าได้ปริญญาครบ ๓ ขั้น ชื่อว่าได้ปริญญาเอกในทางพระพุทธศาสนา บางคนจบปริญญาเอกทางโลก แต่สอบตกปริญญาทางพระพุทธศาสนา มีปัญหาชีวิต มีปัญหาครอบครัว ฆ่ากันตายบ้าง ทำร้ายกันบ้าง ฆ่าตัวเองบ้าง ติดคุกบ้าง สอบตกหมด ยกบ้านยกครอบครัว แสดงว่าไม่มีความรู้ในทางพระพุทธศาสนาสมกับที่เป็นปริญญาคือเข้าวัดเข้าวาฟังเทศน์ ฟังธรรม ปริญญาในทางพระพุทธศาสนาชื่อว่ามี ๓ ขั้น คือ
ขั้นที่ ๑ ญาตปริญญา แปลว่าขั้นรู้จัก
ขั้นที่ ๒ ตีรณปริญญา แปลว่าขั้นพิจารณา
ขั้นที่ ๓ เรียกว่าปหานปริญญา แปลว่าขั้นละ
ถ้าจะจำให้ง่ายก็คือ รู้จักเป็นขั้นที่ ๑ รู้รอบเป็นขั้นที่ ๒ รู้ละเป็นขั้นที่ ๓ เรียกว่าเป็นปริญญาสูงสุด
ในสามขั้นนี้ ขั้นว่ารู้จักคืออะไร ท่านมาฟังพระเทศน์ ฟังแล้วเข้าใจ ว่าวันนี้พระเทศน์เรื่องอะไร ดีอย่างไร เรียกว่าขั้นรู้จัก มารับศีล รู้ว่าฆ่าสัตว์ไม่ดี ลักทรัพย์ ไม่ดี ประพฤติผิดในกามไม่ดี นี้เรียกว่าขั้นรู้จัก เรียกธรรมขั้นนี้เป็นญาตปริญญา หมายถึงรู้ว่าอะไรเป็นอะไร
รู้ขั้นว่าอะไรเป็นอะไรนี้เป็นเบื้องต้น เป็นปริญญาแรก คือเป็นปริญญาตรี รู้แค่นี้ ยังไม่ได้ผลเท่าไร เพราะอะไร เรารู้ว่าอะไรคืออะไรนี้ก็ไม่ช่วยให้ตนเองดับทุกข์ เป้าหมายก็คือแก้ปัญหา รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนี้ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ ต้องรู้เชื่อมโยงว่ามันมาจากไหน มีเหตุเป็นอย่างไร จะดับเหตุได้อย่างไร เรียกว่า ตีรณปริญญา เป็นรู้ขั้นที่ ๒ เหมือนหมอรู้มากกว่าเรา เราเจ็บ เราป่วย ไม่สบาย บอกว่าเป็นมะเร็ง นี้เป็นญาตปริญญา แต่รักษาได้ไหม เรารักษาไม่ได้ หมอเขารู้ในขั้นที่ ๒ เรียกว่า ตีรณะ รู้รอบพิจารณาว่ามะเร็งมาจากไหน ทานยาอะไร ฉีดยาอะไรแล้วมันจะหาย นี้เรียกว่ารู้สูงขึ้นไป
ต่อไปรู้ขั้นที่ ๓ ตอนรักษานี้ หมอรักษาก็ดี เราร่วมกันรักษาก็ดี ในฐานะคนไข้ ใช้ยาขนานนี้ดีขึ้นหรือว่าแย่ลง สมุนไพรช่วยได้ไหม เคโมเทเลพีค ฉีดเคมีเข้าไป ดีขึ้นหรือเราแพ้ยา แล้วควรที่จะรักษาต่อ หรือควรจะหยุด อันนี้เป็นขั้นที่ ๓ เพียงแต่รู้ว่าเราป่วยเป็นอะไรอย่างเดียว เป็นขั้นที่ ๑ การเจ็บป่วยมาจากสมุฏฐานอะไร รักษาอย่างไร เป็นขั้นที่ ๒ การรักษาติดตามเป็นขั้นที่ ๓ คนเรานั้นต้องรู้ให้ครบ ๓ ขั้น จึงเรียกว่าได้ปริญญาในชีวิตครบจริงๆ

พระพุทธเจ้าได้ทรงเล่าชาดก อธิบายเปรียบเทียบไว้ว่า กวางตัวหนึ่งออกหาอาหารกิน ไปแต่เช้าทีเดียว ปกติมันก็ไปกินผลไม้ที่ตกมาจากต้น วันนั้นไปแต่เช้า ไปที่ต้นมะรื่น มะรื่นต้นนี้มีผลดกตกลงมาแล้วสัตว์ก็พากันกิน กินแล้วก็เวียนมากินอีกในวันรุ่งขึ้น พรานคนหนึ่งอยากจะจับสัตว์ ไม่ไปไหนสังเกตดูที่สัตว์พากันมากินผลไม้ จากนั้นแกก็ปีนขึ้นไปทำห้างร้าน เรียกว่านั่งห้างบนต้นมะรื่น เอาใบไม้ปิดไว้ แล้วก็มีหอกอยู่ในมือ ต้นก็คงไม่สูงนัก พอสัตว์มากินผลมะรื่นที่ตกลงมา ก็เอาหอกพุ่งลงมาในระยะกระชั้นชิด ได้สัตว์ไปแร่เนื้อขายหลายต่อหลายตัวแล้ว วันนั้น กวางตัวนี้ก็เดินมาที่ต้นมะรื่น แล้วสังเกตว่า ทำไมผลมะรื่นหรือลูกมะรื่นวันนี้มันตกเยอะเหลือเกิน วันอื่นๆ มันไม่ได้ตกเยอะขนาดนี้ แต่วันนี้มันตกเยอะ ก็หยุดรีรอคอยดูอยู่ ส่วนนายพรานกลัวว่ากวางตัวนี้จะรู้ตัวไม่เข้ามากิน เพราะว่าผลมะรื่นอยู่ใกล้โคนต้นมากไปหน่อย กวางมันก็มองแล้วมองอีก ไม่เข้ามา นายพรานเด็ดผลมะรื่นหนึ่งผลโยนเฉียงๆ ไปหากวาง กวางสงสัยรำพึงกับตนเอง
“แน่ะ มะรื่น วันอื่นตกลงมาตรงๆ วันนี้มะรื่นแปลกนะ ตกเฉียงๆ เข้ามาหากวาง ไม่ชอบเลยนิสัยแบบนี้ ไม่ดีเลย” กวางพูดดังๆ นายพรานก็นึกสงสัย เมื่อครู่โยนโค้งไปหน่อย ตอนนี้ตกตรงๆ ก็แล้วกัน โยนไปตรงๆ กวางก็พูดว่า “มะรื่นวันนี้ดูชอบกล ไม่อร่อยแน่ ไม่อยากกิน ไปดีกว่า” เมื่อชำเลืองดูแล้ว เห็นมือแวบๆ ตอนที่มันตกลงมารอบที่สอง กวางก็เดินหนี พอเดินหนี นายพรานก็พุ่งหอกลงมา เฉียดไป ไม่ถูก กวางก็เลยวิ่งหนีเอาตัวรอดไปได้
เรื่องนี้ สอนให้รู้ว่าการเห็นผลมะรื่นตกลงมาน่ากินเป็นอาหารโอชะ เป็นญาตปริญญา แปลว่ารู้จักว่า เกิดอะไรขึ้น ก็คือผลมะรื่นนี้ ผลมะรื่นตกลงมาเกลื่อนต้นเลย แต่พอผลมะรื่นนั้นถูกนายพรานโยนลงมาเฉียงๆ กวางรู้แล้วเป็นตีรณปริญญา มะรื่นที่ไหนมันตกเป็นวงโค้ง แสดงว่าต้องมีคนทำ พิจารณาสาเหตุแล้ว ก็เลยพูดดังๆ ไม่กินแล้ว ไปดีกว่า พอตัดสินใจว่าไปดีกว่า เป็นความรู้ขั้นละ หรือขั้นตัดสินใจว่าควรหรือไม่ควร เป็นปหานปริญญา ในที่สุดก็เดินหนีไป จากไปด้วยความปลอดภัย ...................

อนุโมทนาบุญกับศิษย์พี่ทุกท่านครับ ว่าเเต่ผลมะรื่มมันเป็นอย่างไร พี่ๆเคยเห็นไหม

หมอโรจน์