วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การสอนเเบบ สาลิกาป้อนเหยื่อ

เมื่อสัปดาห์ก่อน มีคนมาถามผมว่า
หมอรู้จัก "สาลิกาป้อนเหยื่อ" ไหม??
ผมได้อรรถาธิบายไปคราวๆตามที่เข้าใจ

วันนี้เลยขออนุญาตนำคำสอนของท่านพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาจุฬาราชวิทยาลัย
ท่านอธิบายได้เเจ่มเเจ้งมาก ผมตัดมาบางส่วนเพื่อให้ตรงกับประเด็นที่ยกขึ้น

สาลิกาป้อนเหยื่อ หมายถึงลีลาสอนธรรมให้เหมาะกับระดับของผู้ฟังเช่นเดียวกับแม่นกสาลิกาเมื่อป้อนเหยื่อให้ลูกนกจะทำเหยื่อแต่ละคำให้พอดีกับปากของลูกนก ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับพุทธพจน์ที่ว่า “จงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด”
การสอนสอนธรรมที่ดีต้องมีการเลือกใช้ลีลาให้เหมาะกับระดับสติปัญญาของผู้ฟัง ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแบ่งคนฟังธรรมออกเป็น ๔ ประเภทเหมือนดอกบัว ๔ เหล่า แต่ละประเภททรงใช้ลีลาการสอนธรรมไม่เหมือนกัน เช่นทรงยกหัวขึ้นแสดงโดยย่อสำหรับพวกบัวพ้นน้ำ ทรงอธิบายขยายความพอสมควรสำหรับพวกบัวปริ่มน้ำ ทรงแสดงธรรมแบบธรรมาธิษฐานสำหรับพวกบัวพ้นน้ำ ทรงแสดงธรรมแบบบุคลาธิษฐานสำหรับบัวประเภทอื่น

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าที่หยิบใบประดู่ลายกำมือหนึ่งแล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่าใบไม้ในกำมือของเรากับใบไม้ในป่าอันไหนมากกว่ากัน พระก็ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าใบไม้กำในมือของพระองค์น้อยกว่า ใบไม้ในป่ามากกว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมที่เราตรัสรู้มีมากมายมหาศาลเปรียบเหมือนกับใบไม้ในป่าทั้งป่า แต่ที่เรานำมาสอนพวกเธอทั้งหลายน้อยนิดประดุจดังใบไม้กำมือเดียวเท่านั้น เราไม่ได้สอนทั้งหมดที่เรารู้ เราสอนเฉพาะเรื่องที่พวกเธอควรรู้ ที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับทุกข์ เพื่อนิพพาน
พุทธพจน์นี้แสดงถึงหลักการเลือกสอนธรรมให้เหมาะกับผู้ฟัง เราไม่สอนทุกเรื่องที่เรารู้ แต่สอนเรื่องที่เขาควรรู้หรืออยากรู้ เหมือนแม่นกสาลิกาเลือกเหยื่อให้พอดีกับปากของลูกนก

นักสอนธรรมบางคนไม่คำนึงถึงระดับสติปัญญาของผู้ฟัง เขาเทศน์อัดธรรมเต็มที่จนผู้ฟังตาลอย พอผู้ฟังตามเขาไม่ทัน เขาก็หาว่าผู้ฟังโง่ ใครที่คิดว่าผู้ฟังโง่ต้องเตือนตัวเองด้วยภาษิตอุทานธรรมที่ว่า
“ถ้าพูดไปเขาไม่รู้อย่าขู่เขา
ว่าโง่เง่างมเงอะเซอะนักหนา
ตัวของเราทำไมไม่โกรธา
ว่าพูดจาให้เขาไม่เข้าใจ”

หลักการสอนธรรมให้ผู้ฟังเข้าใจคือการถือผู้ฟังเป็นศูนย์กลางและปรับลีลาการสอนให้สอดคล้องกับระดับสติปัญญาของผู้ฟัง นั่นคือการแสดงธรรมที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลางและงามในที่สุด มีคำอธิบายว่า คำขึ้นต้นท่านเรียกว่านิทานพจน์ คำลงท้ายเรียกว่านิคมพจน์ ส่วนที่เหลือเรียกว่าท่ามกลาง
ลีลาการสอนธรรมแบบสาลิกาป้อนเหยื่อสรุปได้ว่า “ขึ้นต้นให้ตื่นเต้น เด่นชัดในตอนกลาง ชี้ทางในตอนจบ”
การขึ้นต้นจะให้ตื่นเต้นต้องเริ่มเปิดฉากด้วยการสร้างความสงสัยหรือประหลาดใจแก่ผู้ฟัง ดังที่พระพุทธเจ้าทรงทำให้โจรองคุลิมาลสงสัยอยากสนทนาธรรมด้วยเมื่อทรงเริ่มต้นด้วยคำว่า “เราหยุดแล้ว ท่านสิยังไม่หยุด”

ในกสิภารทวาชสูตร ชาวนาคนหนึ่งเห็นพระพุทธเจ้าออกมาบิณฑบาตใกล้ที่นาของเขา เขาไม่อยากใส่บาตรจึงเตือนพระพุทธเจ้าว่า “คนทำนาจึงมีข้าวกิน พระองค์ก็ควรทำนาบ้าง” พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่าพระองค์ก็ทำนาเหมือน ชาวนาคนนั้นรู้สึกประหลาดจึงถามว่าถ้าพระองค์ก็ทำนา อุปกรณ์ในการทำนาอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า “ศรัทธาของเราเป็นเมล็ดพืช ความเพียรเป็นฝน ปัญญาเป็นแอกและไถ”
ครั้งหนึ่ง พระครูพิศาลธรรมโกศลหรือหลวงตาแพรเยื่อไม้รับนิมนต์ไปอบรมผู้ต้องขังในเรือนจำ ท่านเริ่มต้นด้วยถ้อยคำสะดุดหูผู้ฟังว่า “วันนี้จะพูดเรื่องติดคุกเป็นมงคล”

วันหนึ่งมีผู้ชายคนหนึ่งมาหาผมที่วัดแล้วถามคำถามประหลาดว่า “ผมจะฆ่าใครดี เมียผมมีชู้ ลูกผมก็ยังเล็กมาก ถ้าผมฆ่าเมียตาย ผมติดคุก ลูกผมจะอยู่กับใคร ถ้าผมฆ่าตัวตาย เมียผมก็สบายกับผัวใหม่ ถ้าผมฆ่าตัวผม เมียผมและลูกผม ผมก็คิดว่าลูกผมไม่ผิดอะไร ทำไมจะต้องตายด้วย ผมคิดไม่ตกว่าจะฆ่าใครดี”
ผมตอบเขาทันทีว่า “ฆ่าความโกรธในใจของคุณนั่นแหละดีที่สุด” คำตอบนี้ทำให้เขาตั้งใจฟังผมต่อไป เมื่อสนทนาธรรมจบลง เขาบอกว่าเขาไม่คิดจะฆ่าใครอีกเลย

การเริ่มต้นให้ตื่นเต้นเป็นการนำเข้าสู่บทเรียนธรรม ต่อจากนี้ไปเรียกว่าตอนกลาง เราต้องใช้ลีลาการสอนที่ช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจชัดเจนตามหลักการสอน ๔ ส ดังนี้
๑. สันทัสสนา แจ่มแจ้ง คืออธิบายขยายความได้ชัดเจน
๒. สมาทปนา จูงใจ คือทำให้เกิดศรัทธา
๓. สมุตเตชนา แกล้วกล้า คือ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าเราก็ทำได้
๔. สัมปหังสนา ร่าเริง คือผู้ฟังได้ธรรมรสและรู้สึกเบิกบานสบายใจ
ที่ว่า “เด่นชัดในตอนกลาง” ก็คือสอนให้ได้ผล ๔ ประการดังกล่าวนี้ รายละเอียดในเรื่องนี้หาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือของผมเรื่องตำนานสาลิกาป้อนเหยื่อและหนังสือเรื่องวิชาการเทศนาของสำนักวัดประยุรวงศาวาส

เมื่อพระธรรมทูตสอนธรรมจบลงทุกครั้งควรประเมินผลการสอนว่าเราทำได้กี่ข้อ
ถ้าท่านสอนได้ครบ ๔ ข้อ คือได้ ๔ ส ผมให้คะแนนระดับดีมาก
ถ้าท่านสอนได้ ๓ ส ผมให้คะแนนระดับดี
ถ้าท่านสอนได้ ๒ ส ผมให้คะแนนระดับพอใช้
ถ้าสอนได้แค่ ๑ ส ผมให้คะแนนระดับต้องปรับปรุง
ถ้าท่านไม่ได้สัก ส เดียว ผมเสนอว่าท่านไปทำงานอย่างอื่นดีกว่า อย่าสอนธรรมเลย มิฉะนั้นจะเป็นการโปรดสัตว์ได้บาป เพราะผู้ฟังอาจจะเบื่อการฟังธรรมไปอีกนานทีเดียวเพราะท่านเป็นเหตุ
ที่ว่า “ชี้ทางในตอนจบ” คือก่อนจบทุกครั้งให้สรุปเป็นข้อคิดหรือหลักปฏิบัติสั้นๆเพื่อให้ผู้ฟังใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตต่อไป การชี้ทางปฏิบัติเป็นหน้าที่ของนักสอนธรรม ดังคำประพันธ์ที่ว่า “ชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมศานต์ ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย”
หลวงพ่อพระพุทธวรญาณ (มงคล) อดีตเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสมักเตือนผู้ฟังธรรมทุกครั้งว่า “ตั้งใจฟัง ตั้งใจจำ นำเอาไปปฏิบัติ” โดยนัยนี้ ผู้สอนธรรมต้องสรุปเป็นคติธรรมประจำใจให้ผู้ฟังจดจำและนำเอาไปปฏิบัติ เช่นเดียวกับนักเล่านิทานทั้งหลายมักลงท้ายด้วยคำว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า”

สาธุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น