วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ภาษาไทยสำหรับงานเขียนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี





วันนี้มีเวลาว่างเลยนำเรื่องที่บางท่านอาจเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ
แต่สำหรับคนไทยแท้อย่างผมแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก
ถึงแม้ว่าหลายครั้งจะติดเชื้อโรค “ไฮเปอร์กระแดะซินโดรม” อยู่บ้าง
ชนิดไทยคำ-ฝรั่งคำ (แต่เวลาพูดแบบให้เป็นฝรั่งทุกคำ กลับพูดไม่ได้)

มันแสดงถึงความรักชาติ รักวัฒนธรรมของเรา
อย่างที่ อาจารย์แม่ (รศ.สุนีย์) เคยพูดว่า “สิ้นภาษาก็เหมือนสิ้นชาติ”

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ต้องเริ่มทำงานด้านวิชาการ
ทั้งเขียนงานวิจัย บทความวิชาการ อะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย
แม้กระทั้งวิทยานิพนธ์ ไม่คิดมาก่อนว่าคนไทยหนุ่มๆหล่ออย่างเรา
จะมีปัญหาภาษาไทยไม่ใช่น้อยที่เดียว
แต่ไม่รู้จะปรึกษาใคร
มีอยู่ท่านหนึ่งที่ได้ช่วยกรุณาบอกว่าด้วยคำพูดที่เสียงดังฟังชัดว่า
“อ่านข้อความของยูแล้ว อย่าเข็กหัวจริงๆ”
ท่านคือ “รศ.ดร.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล”
นี่เป็นคำเตือนแรกที่ทำให้ผมสะดุ้ง ตกใจ และเสียความมั่นใจในตัวเองแบบสุดๆ
แต่ไม่ได้แสดงออก เดี๋ยวอาจารย์รู้ไต๋หมด

แต่ผมก็โชคดีเพราะนับจากคำพูดประโยคนั้น
อาจารย์ได้สอนผมเขียนภาษาไทยแบบจับมือเขียน
ชนิดคำต่อคำ ประโยคต่อประโยค จนจบ
และแล้วเวลาผ่านไป จนผมเรียนจบ ป.เอก
ผมกลับไปอ่านบทความหรืองานเขียนที่เคยทำในอดีต
อ่านแล้ว อยากซุกแผ่นดินหนี
แสดงว่าเราเขียนภาษาไทยได้แย่เพียงนี้เชียวหรือ??
ตอนนี้ ก็ยังแย่อยู่นะ แต่ดีกว่าแต่ก่อนมานิดหนึ่ง

เคยนึกเสมอว่า ถ้ามีคู่มือที่มาช่วยแนะนำเราอีกแรงก็คงจะดีนะ

จนเมื่อสัก 2 เดือนก่อน ผมไปพบหนังสือเล่มหนึ่ง
ชื่อ "ภาษาไทยสำหรับงานเขียนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี "
แต่งโดย มงคล เดชนครินทร์
ของสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ ปี 52

ผมอ่านชนิดรวดเดียวจบ ระหว่างนั่งฟังประชุมวิชาการที่โรงแรมปริ้นพาเลซ แถวมหานาค กทม
วันนั้นเป็นวันที่ผมมีองค์ลงประทับทรงพอดี คือเป็นวันที่มีสติดีมาก
ความจำความคิดบรรเจิดมาก
สามารถฟังวิชาการและอ่านหนังสือไปได้ทั้ง 2 ทาง
โอกาสอย่างนี้ 1 ปี จะมีอย่างนี้สัก 2 วัน (ปีนี้ใช้โควตาครบแล้วครับ)

ประเด็นที่ผู้เขียนได้นำเสนอ เช่น
การสะกด
การใช้ลักษณะนาม
การละคำขึ้นต้นที่ไม่จำเป็น
การใช้คำฟุ่มเฟือย
การใช้เครื่องหมายวรรคตอน
ฯลฯ
สำหรับตัวผมเอง ผมชอบ บทที่ 3 ของหนังสือเล่มนี้มาก
บทนี้เป็นการอธิบายการละคำขึ้นต้นที่ไม่จำเป็น
เช่น “ซึ่ง โดย สำหรับ ”
แสดงว่าผมใช้ผิดมาตลอด

อีกบทคือ การใช้บุพบท “กับ แก่ ต่อ”
ซึ่งมีความแตกต่างกัน (อุ้ย เพลอใช้คำว่า ซึ่ง นำหน้าประโยคอีกแล้ว)
ใครอยากรู้ให้ไปหาอ่านเอาเอง ราคาปก 70 บาทเท่านั้นเอง
ถูกมากๆ แต่คุณภาพหรือประโยชน์ที่จะได้รับดีกว่าหนังสือของพวกบรรดาดาราขี้โม้

ขอร้องอีกอย่างว่า
อย่าขอคนอื่นไปถ่ายเอกสารเลยนะครับ
หนังสือราคาไม่ได้แพงอะไรมากมาย คุ้มมากๆเมื่อเทียบประโยชน์กับราคา
ลงทุนกันหน่อย กระเป๋าไม่ฉีกหรอกครับ

หมอโรจน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น