วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

หนังสือ "หลักราชการ"

ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์นี้ผมมีเวลาว่าง ไปเจอหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง เห็นปกเเล้วรู้สึกถูกดึงดูด "หลักราชการ"
เป็นพระราชนิพนธ์ของรัชการที่ 6 ตั้งเเต่ปี 2457 เกือบร้อยปีมาเเล้ว เเต่เนื้อหายังทันสมัย
หลายประเด็นสามารถตอบคำถามหรือข้อสงสัยได้อย่างเเทงใจผมเลย
เลยส่งมาให้ลองอ่านกัน โดยนำเเบบสรุปมาให้ก่อน หากลองค้นหาใน google ก็จะเจอไฟล์
ขอให้มีความสุขกับสิ่งดีๆ อ่านเเล้วยิ่งรักเเละศรัทราพระองค์ท่านมากเลยครับ

หลักราชการ
พระนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2457
หนทางไปสู่ความสำเร็จประกอบด้วย คุณวิเศษ 10 ประการ

ความสามารถ เป็นสิ่งที่ต้องการสำหรับคนที่จะใช้เป็นผู้บังคับบัญชาคน ไม่ว่าในหน้าที่ฝ่ายทหารหรือพลเรือน และเมื่อผู้ใหญ่เขาจะเลือกหาผู้บังคับบัญชาคน เขาย่อมจะเพ่งเล็ง ดูความสามมารถมากกว่าภูมิวิชา (ถ้าเขาคิดถูก)

ความเพียร คำว่า " เพียร " แปลว่า " กล้าหาญไม่ย่อท้อต่อความยากและบากบั่น เพื่อจะข้ามความขัดข้องให้จงได้ โดยใช้ความอุตสาหะวิริยะภาพ มิให้ลดหย่อน " ผู้ที่ตีราคาว่าเป็นคนมีวิชามักจะลืมคำนึงข้อนี้ จึงไม่เข้าใจว่า เหตุใดผู้มีวิชาน้อยกว่าตน จึงกลับได้ดีมากกว่า
ความไหวพริบ แปลว่า " รู้จักสังเกตเห็นโดยไม่ต้องมีใครเตือนว่า เมื่อมีเหตุนั้นๆ จะต้องปฏิบัติอย่างนั้นๆ เพื่อให้บังเกิดผลดีที่สุดแก่กิจการทั่วไป และรีบทำการอันเห็นควรนั้นโดยฉับพลันทันท่วงที "

ความรู้เท่าถึงการ แปลว่า " รู้จักปฏิบัติการให้เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง "

ความซื่อตรงต่อหน้าที่ คือ " ตั้งใจกระทำกิจการซึ่งได้รับมอบให้เป็นของตนนั้นโดยซื่อสัตย์สุจริต ใช้ความอุตสาหะวิริยะภาพเต็มสติกำลังของตน ด้วยความมุ่งหมายให้กิจการนั้นๆ บรรลุซึ่งความสำเร็จโดยอาการอันงดงามที่สุดที่จะพึงมีหนทางจักไปได้ "

ความซื่อตรงต่อคนทั่วไป หนทางที่ดีที่สุดจะดำเนินไปเพื่อให้เป็นที่นิยมแห่งคนทั้งหลายมีอยู่ ต่อความประพฤติซื่อตรงทั่วไป รักษาตนให้เป็นคนควรที่เขาทั้งหลายจะเชื่อถือได้ โดยรักษาวาจาสัตย์ พูดอะไรเป็นนั่นไม่เหียนหันเปลี่ยนแปรคำพูดไป เพื่อความสะดวกครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง ไม่คิดเอาเปรียบใครโดยอาการอันเขาแข็งไม่ได้ ไม่ยกตนข่มท่าน หาดีใส่ตัว หาชั่วใส่เขา เมื่อผู้ใดมีไมตรีต่อก็จอบแทนด้วยไมตรีโดยสม่ำเสมอ
ความรู้จักนิสัยคน ถ้าเป็นผู้น้อยเป็นหน้าที่จะต้องศึกษาและสังเกตให้รู้นิสัยของผู้ใหญ่ ต้องรู้ว่าความคิดเห็นเป็นอย่างไร ชอบการทำงานอย่างไร ชอบหรือชังอะไร เมื่อทราบแล้วก็อาจที่จะวางความประพฤติและทางการทำงานของตนเองให้ต้องตามอัธยาศัยของผู้ใหญ่นั่นได้ ที่แนะนำเช่นนี้ไม่ใช่แปลว่าให้ สอพลอ เป็นแต่ให้ผ่อนผันให้เป็นการสะดวกที่สุดแก่การเท่านั้น................... .......ถ้าตนเป็นผู้ใหญ่มีหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาคนมากๆ การรู้จักนิสัยก็ยิ่งมีความจำเป็นยิ่งขึ้น เพราะเราไม่ใช่ฝูงแกะ ซึ่งจะต้องไม่ได้โดยวิธีร้อง " ยอ " หรือเอาไม้ไล่ตี
ความรู้จักผ่อนผัน คนโดยมากมีหน้าที่บังคับบัญชา ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนมักเข้าใจคำว่า " ผ่อนผัน " นี้ผิดกันอยู่เป็นสองจำพวกคือ จำพวก ๑ เห็นว่า การผ่อนผันเป็นสิ่งทำเสียระเบียบทางการไป จึงไม่ยอมผ่อนผันเลยและแผลงคำว่า " ผ่อนผัน " ว่า " เหลวไหล " เสียทีเดียว อีกจำพวก ๑ เห็นว่าประการใดๆ ทั้งปวง ควรจะคิดถึงความสะดวกแก่ตัวเองและบุคคลในบังคับบัญชาของตนเป็นที่ ๒ จึงยอมผ่อนผันไปเสียทุกอย่าง จนเสียทั้งวินัยและแบบแผนและหลักการทีเดียว ก็มีทั้ง ๒ จำพวกนี้เข้าใจผิดทั้ง ๒ พวก

ความมีหลักฐาน
1.มีบ้านเป็นสำนักมั่นคง คือ ไม่ใช่เที่ยวเกระเกเส ไม่แอบนอนซุกๆ ซ่อนๆ หรือเปลี่ยนย้ายจากที่โน่นไปที่นี่ เป็นหลักลอย
2.มีครอบครัวอันมั่นคง คือ มีภรรยาเป็นเนื้อเป็นตัว ซึ่งจะออกหน้าออกตาไปวัดไปวาได้ ไม่ใช่หาหญิงแพศยามาเลี้ยงไว้สำหรับความพอใจชั่วคราว
3.ตั้งตนไว้ในที่ชอบ คือ ไม่ประพฤติเป็นคนสำมะเลเทเมา สูบฝิ่นกินเหล้าหรือเป็นนักเลงเล่นเลี้ยงและเล่นผู้หญิง ซึ่งล้วนแต่เป็นอบายมุข

ความจงรักภักดี แปลว่า " ความสละตน เพื่อประโยชน์แห่งท่าน " คิดถึงแม้ว่าตนตนจะได้รับความเดือดร้อน ความรำคาญ ตกระกำลำบาก หรือจนถึงต้องสิ้นชีวิตเป็นที่รักก็ย่อมได้ทั้งสิ้น เพื่อมุ่งประโยชน์แท้จริงให้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น